TNN online ก.ย.ฝนมากกว่า ส.ค. กางแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือพายุ 2 ลูกเดือนหน้า

TNN ONLINE

สังคม

ก.ย.ฝนมากกว่า ส.ค. กางแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือพายุ 2 ลูกเดือนหน้า

ก.ย.ฝนมากกว่า ส.ค. กางแผนบริหารจัดการน้ำ รับมือพายุ 2 ลูกเดือนหน้า

ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ระบุ 2 เขื่อนใหญ่พื้นที่ภาคเหนือ ยังพร้อมรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงนี้ พร้อมเตรียมการพร่องน้ำรองรับพายุ 2 ลูกในช่วงเดือนกันยายน ที่คาดว่าฝนจะตกจะมากกว่าเดือนสิงหาคม

นาย ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ไทยยังคงมีแนวโน้มของฝนที่จะมากขึ้น 


ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ระบุว่า ฝนที่ตกในช่วงนี้เป็นอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีกลุ่มเมฆฝนที่พัดมาจากทะเล ซึ่งกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคกลาง จะมีอิทธิพลของฝนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ยังคงมีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการพร่องน้ำในขณะนี้ มีการเตรียมการอยู่ 2 ลักษณะ คือในเกณฑ์ของเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ในขณะนี้ยังสามารถรองรับได้น้ำอีกพอสมควร เพราะปัจจุบันมีน้ำอยู่เพียงร้อยละ 30 เพียงเท่านั้น 


ส่วนเขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ของการระบายน้ำ แต่ปัญหาที่ทำให้มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา คือปัญหาของฝนที่ตกตอนล่างของเขื่อน ทำให้หน้าเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำมาก ซึ่งปัจจุบันมีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,579 ลบ.ม./วินาที แต่ยังถือเป็นปริมาณที่เหมาะสม ขณะที่เขื่อนป่าสักฯ กรมชลประทานก็ได้มีการลดการระบายน้ำให้อยู่ที่ 430 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงไม่ให้กระทบกับท้ายน้ำ และการระบายน้ำจะปรับการระบายเป็นลำดับขั้น เพื่อสามารถเตรียมตัวได้ทัน 



อย่างไรก็ตามกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาวิเคราะห์ว่า ช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยอีกราว 2 ลูกนั้น ขณะนี้ยังต้องรอการวิเคราะห์ ว่าพายุที่จะเข้านั้นจะมีลักษณะอย่างไร ซึ่งได้มีการวิเคราะห์และวางแผนการระบายน้ำไว้แล้ว แต่ก็เชื่อว่าปริมาณฝนในเดือนกันยายนนั้นจะมากกว่าเดือนสิงหาคม ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในเดือนกันยายน กรมชลประทานจะระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ และไม่ให้กระทบกับแนวตลิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งการระบายน้ำนั้นจะไม่ให้กระทบกับท้ายน้ำเป็นหลัก





ภาพ TNNONLINE  



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง