วันนี้วันอะไร วันมาฆบูชา 2565 ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์

วันมาฆบูชา 2565 ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา
รู้หรือไม่ วันมาฆบูชาปี 2565 ตรงกับวันที่เท่าไหร่ วันมาฆบูชา 2565 ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์ ณ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นการแสดงธรรมเป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ได้ 9 เดือน
วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สอนให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ โดยในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน 4 ประการคือ
1. เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันเพ็ญเดือน 3)
2. เหล่าพระสงฆ์จำนวน 1250 รูปมารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา
จากเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้วันมาฆบูชาหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต" โดยคำว่าจาตุรงคสันนิบาต หมายถึง การประชุมด้วยองค์ 4 โดยสาระสำคัญของโอวาทปาติโมกข์เป็นหลักคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานในวันมาฆบูชา ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ซึ่งมีความหมายดังนี้
หลักการ 3
หลักการ 3 คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมี 3 ประการ ได้แก่
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลดละเลิก ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่วมี 10 ประการ อันความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 ประกาศอันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
3. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบมี 5 ประการ ได้แก่
- กามฉันทะ คือ ความพอใจในกาม
- พยาบาท คือ ความอาฆาตพยาบาท
- ถีนะมิทธะ คือ ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ
- อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
- วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย
อุดมการณ์ 4
อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต มี 4 ประการ ได้แก่
- ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
- ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
- ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
- นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8
วิธีการ 6
วิธีการ คือ แนวทางปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนามี 6 ประการคือ
- อนูปวาโท ไม่ไปว่าร้ายกัน ผู้เผยแผ่คำสอนจะต้องไม่โจมตี ไม่นินทาใคร
- อนูปฆาโต ไม่ไปล้างผลาญกัน ไม่เผยแผ่ศาสนาด้วยการฆ่า และต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
- ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่ได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่ทรงอนุญาต
- มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ต้องรู้จักประมาณในการกิน การใช้เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง
- ปนฺตญฺจ สยนาสนํ เลือกที่นั่งที่นอนในที่สงบ เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการบำเพ็ญเพียรเต็มที่
- อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งอยู่เสมอ มุ่งทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลส
ทั้งนี้ โอวาทปาติโมกข์ทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นหลักปฏิบัติและนโยบายในการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระอรหันต์ชุดแรกที่ได้ออกไปประกาศพระศาสนาในโอกาสที่ได้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้ถือเป็นนโยบายและหลักปฏิบัติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นแนวทางเดียวกัน
ที่มาข้อมูล : www.dmc.tv
ที่มาภาพ : AFP