TNN online เปิดลิสต์อาหารเสี่ยง "พยาธิปอดหนูขึ้นตา" รายล่าสุดเพราะ “กุ้งแช่น้ำปลา”เป็นเหตุ

TNN ONLINE

สังคม

เปิดลิสต์อาหารเสี่ยง "พยาธิปอดหนูขึ้นตา" รายล่าสุดเพราะ “กุ้งแช่น้ำปลา”เป็นเหตุ

เปิดลิสต์อาหารเสี่ยง พยาธิปอดหนูขึ้นตา รายล่าสุดเพราะ “กุ้งแช่น้ำปลา”เป็นเหตุ

เปิดลิสต์อาหารที่รับประทานแล้วเสี่ยงป่วยเป็นโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา เป็นแล้วสูญเสียการมองเห็นถาวร

วันนี้ ( 2 ก.พ. 65)จากกรณี คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ม.9 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย อาจารย์นายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา และ ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันแถลงพบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา เป็นสาเหตุทำให้ตาขวาบอด 1 ข้าง เผยเป็นผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลกซึ่งจากการซักประวัติของผู้ป่วยพบว่ามีประวัติชอบทานอาหารสุกๆ ดิบๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืด ที่ทานในเมนูกุ้งแช่น้ำปลา เป็นประจำ

โดย รศ.ดร.อภิชาติ วิทย์ตะ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  ระบุว่าพยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) มักพบใน หอยทาก หอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หรือ หอยปัง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืด

ซึ่ง สาเหตุที่พยาธิชนิดนี้ได้ชื่อว่าพยาธิปอดหนูเพราะ พยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศ จะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อน ระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู และตัวอ่อนจะไชเข้าสัตว์น้ำจิดประเภทดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ในระยะนี้หากคนรับประทานอาหาร ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบ ประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง  หรือตา ฯลฯ  อาการเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่  ในกรณีขึ้นตาทำให้เกิดอาการที่พบบ่อยคือตามัวลงแบบเฉียบพลัน มักไม่ปวดหรือเคืองตา   

ด้าน ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์เจ้าของไข้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีรายงานพบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลกจาก ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2505  ทั่วโลกมีการรายงานไว้ไม่เกิน 50 ราย พบมากที่สุดในโลกเป็น ผู้ป่วยจากภาคอีสาน รายงานโดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 18 ราย  เนื่องจากอาการเบื้องต้นมักไม่เจ็บหรือปวด จะมีแค่อาการตาพร่ามัวข้างเดียวเท่านั้น การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องตรวจโดยจักษุแพทย์ ด้วยการตรวจความคมชัดของสายตา วัดความดันตา ตรวจตาอย่างละเอียด ด้วยกล้องสำหรับตรวจตา รวมถึงตรวจโดยการขยายม่านตาและมีการใช้เครื่องมือพิเศษต่าง ๆ ร่วมด้วย โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาฆ่าพยาธิและการผ่าตัดนำพยาธิออก จากดวงตา แต่มักมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร   การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ถูกสุขลักษณะเสมอ”

ข้อมูลจาก : นักข่าวภูมิภาคพิษณุโลก 

ภาพจาก :   นักข่าวภูมิภาคพิษณุโลก 

ข่าวแนะนำ