TNN online "วันงดสูบบุหรี่โลก" 31 พฤษภาคม แนะวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ

TNN ONLINE

Health

"วันงดสูบบุหรี่โลก" 31 พฤษภาคม แนะวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ

วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม แนะวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ

"วันงดสูบบุหรี่โลก" 31 พฤษภาคม ของทุกปี แนะวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ

"วันงดสูบบุหรี่โลก"  31 พฤษภาคม ของทุกปี แนะวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ


"วันงดสูบบุหรี่โลก" 31 พฤษภาคม ของทุกปี ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การสูบบุหรี่นับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นอกจากควันจากบุหรี่ที่ส่งผลให้เกิดโรคปอด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอดแล้ว 

สารนิโคตินในบุหรี่ยังส่งผลต่อระบบการทำงานและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบสืบพันธุ์ 

สารเคมีในบุหรี่และควันบุหรี่จะไปกระตุ้นการทำงานของธาตุไฟในร่างกายให้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อธาตุลมเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการไอ หอบเหนื่อย และลดการทำงานของธาตุน้ำ ทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำ ท้องผูก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อธาตุดินทำให้ฟันเหลือง ปอดและลำไส้ผิดปกติ


แนะนำการดูแลสุขภาพด้วยหลักธรรมานามัย สำหรับผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่ ดังต่อไปนี้


กายานามัย คือการดูแลอนามัยของร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผลการวิจัยพบว่าการลดการสูบบุหรี่ร่วมกับการออกกำลังกายจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการลดบุหรี่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจใช้การทำท่ากายบริหารฤๅษีดัดตน เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก บ่า และหลัง ได้แก่ ท่าแก้แน่นหน้าอก นอกจากนี้ยังมีท่ากายบริหารฤๅษีดัดตนท่าอื่น ๆ


จิตตานามัย คือการดูแลอนามัยของจิต การเลิกบุหรี่อาจทำให้เกิดความเครียด เนื่องจากร่างกายเสพติดสารนิโคติน ดังนั้นควรทำจิตใจให้สงบด้วยการฝึกสมาธิ ปฏิบัติตามหลักศาสนาหรือแนวทางที่ตนยึดถือ เพื่อให้ผ่อนคลายความเครียดและมีจิตใจที่เข้มแข็งในการเลิกบุหรี่ รวมถึงการพัฒนาจิตควบคู่ไปกับการทำกายบริหารฤๅษีดัดตนยังช่วยในการฝึกสมาธิ และทำให้จิตใจสงบ


ชีวิตานามัย คือการดูแลอนามัยในการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้วยังแนะนำให้รับประทานอาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพื่อทำให้ชุ่มคอ เช่น มะนาว มะขามป้อม หรืออมดอกกานพลู 2-3 ดอก จะทำให้ชาปากเล็กน้อยเป็นการช่วยลดความอยากบุหรี่

ซึ่งในปัจจุบันมีในรูปแบบของยาอมสมุนไพรรสกานพลู และยังมีสมุนไพรที่ช่วยในการลดความอยากบุหรี่ได้ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ หญ้าดอกขาว (Cyanthillium cinereum (L.) H. Rob.)


วิธีการรับประทานหญ้าดอกขาวเพื่อลดความอยากบุหรี่ 


วิธีที่ 1 นำหญ้าดอกขาวแห้งทั้งต้น จำนวน 2-3 ต้น (3-5 กรัม) เติมน้ำให้ท่วม ต้มจนเดือด จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ 125 มิลลิลิตร หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือจิบเมื่อมีความอยากบุหรี่

วิธีที่ 2 นำหญ้าดอกขาวผง 2 กรัม ละลายน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร ดื่มหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง ในปัจจุบันนี้ มีผลิตในรูปแบบยาชงสมุนไพร โดยรับประทานครั้งละ 2 ซองชา (2 กรัม) 

ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไตไม่ควรรับประทาน เนื่องจากหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง แนะนำให้หาทางเลือกอื่นในการช่วยเลิกบุหรี่ 

ผลข้างเคียง : ทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้งได้ แนะนำให้จิบน้ำเมื่อมีอาการดังกล่าว


การเลิกบุหรี่จะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจของแต่ละบุคคลโดยเลือกวิธีการที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการเลิกบุหรี่ 

หากมีความสนใจที่จะใช้สมุนไพรในการช่วยลดความอยากบุหรี่ สามารถรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกอายุรเวท แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลศิริราช



ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง