TNN online ทำความรู้จักก่อน จองวัคซีนโมเดอร์นา มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ทำความรู้จักก่อน จองวัคซีนโมเดอร์นา มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ทำความรู้จักก่อน จองวัคซีนโมเดอร์นา  มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ทำความรู้จัก วัคซีนโมเดอร์นา ก่อนลงทะเบียนจองผ่านรพ.เอกชน มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

หลังจากที่องค์การยาอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียนรับรอง วัคซีนโควิด โมเดอร์นา   (Moderna)  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่องค์การเภสัชกรรมมีการกำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว โดยขายโดสละ 1,100 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคล โดยทางบริษัทจะทยอยจัดส่งให้ในงวดแรกในไตรมาส 4/2564 ประมาณ จำนวน 3.9 ล้านโดส และงวดที่ 2 ในไตรมาสที่ 1/2565 จำนวน 1.1 ล้านโดส 

ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนเริ่มดำเนินการเปิดจอง วัคซีนโมเดอร์นา ให้กับประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะทำการลงทะเบียนจองนั้น เรามาทำความรู้กับวัคซีนประเภทนี้ให้ดียิ่งขึ้น และ มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง 

วัคซีนโมเดอร์นา คือ วัคซีนประเภทใด 

วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)  คือวัคซีนชนิด mRNA หลักการทำงานของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA คือการเอาชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด- 19 (mRNA) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส (Spike protein) นำมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่งที่เรียกว่า S-spike mRNAเมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และโปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้เองจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody)เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของ วัคซีนโมเดอร์นา เป็นอย่างไร

วัคซีนโมเดอร์นาพัฒนาโดย บริษัท ModernaTX, Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564  และ อย.ไทยขึ้นทะเบียนเมื่อ 13 พ.ค. 2564 จากข้อมูลปัจจุบันระบุว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรค คือ 94.1% ในประชากรทั่วไป ป้องกันการติดโรคได้ 86.4%  ประสิทธิผลในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ลดความรุนแรงของโรคได้ 100% และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100% จากข้อมูลทางห้องปฏิบัติการล่าสุด พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สูงพอที่จะยับยั้งสายพันธุ์อัลฟา จากอังกฤษ และ เบตา จากแอฟริกาใต้ได้

ทำความรู้จักก่อน จองวัคซีนโมเดอร์นา  มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

วัคซีนโมเดอร์นา เหมาะกับใคร อายุต่ำกว่า 18 ปี ฉีดได้หรือไม่ ? 

วัคซีนยี่ห้อ  Moderna นี้ เหมาะสำหรับฉีดให้ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะฉีดทั้งหมด 2 โดส ครั้งละ 1 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ สำหรับคนอายุต่ำกว่านี้ จากรายงานเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา โมเดอร์นา ได้เผยผลการทดลองทางคลินิกในกลุ่มคนอายุ 12 -17 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ 96% และนอกจากนี้กำลังอยู่ระหว่างทดสอบในเด็กอายุ 6 เดือน-11 ปี ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ควรรอฟังคำแนะนำสำหรับช่วงอายุที่ต่ำกว่า 18 ปีอีกครั้ง จากกระทรวงสาธารณสุขของไทย

ผลข้างเคียงของ วัคซีนโมเดอร์นา เป็นอย่างไร? 

จากข้อมูลระบุว่า  กลุ่มประชากรวิจัย 15,000 คน จากฐานข้อมูลสมาคมโรคติดเชื้อประเทศสหรัฐอเมริกา พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไปประมาณ 0.03% ของประชากรทั้งหมด โดยมีผลข้างเคียงปรากฏดังต่อไปนี้ 

1.อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง บางรายมีอาการเหนื่อย ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น มีไข้ วิงเวียน คลื่นไส้ และสามารถหายได้เอง ภายใน 2-3 วัน

2.โอกาสแพ้ยาแบบรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปากบวม หน้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ผื่นแพ้ขึ้นทั่วตัวหรือตามร่างกาย มีอัตราส่วน 2.5 : 1,000,000 คน

ข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีนโมเดอร์นา  (Moderna) 

1.ผู้ที่เคยแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด

2.ผู้ที่กำลังไม่สบาย มีไข้ หรือสงสัยว่าจะติดโรคโควิด-19 ยังไม่ควรฉีด

3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่กำลังทานยาโรคประจำตัว สามารถฉีดได้ หากอาการต่างๆ ของโรคคงที่ และได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ก่อน

4.ผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้ออื่นไปก่อนหน้า ควรปรึกษาแพทย์ หากต้องการฉีดซ้ำ

5.เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่นทุกประเภท จึงแนะนำเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกันและรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน

6.สำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร สามารถฉีดได้หากอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์  อย่างไรก็ตามหมดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ข้อมูลอ้างอิง : พญ. สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง