TNN online อนุทิน ยืนยัน! ยังบริหารจัดการ “เตียงผู้ป่วยโควิด” ได้

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

อนุทิน ยืนยัน! ยังบริหารจัดการ “เตียงผู้ป่วยโควิด” ได้

อนุทิน ยืนยัน! ยังบริหารจัดการ “เตียงผู้ป่วยโควิด” ได้

อนุทิน ยืนยัน ยังสามารถบริหารจัดการเตียงได้อยู่ แม้โรงพยาบาลหลายแห่งงดรับตรวจโควิด เร่งหาสถานที่เพิ่ม ทำรพ.สนาม

วันนี้( 25 มิ.ย.64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า บ่ายวันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ทางนายกรัฐมนตรี จะเชิญคณะแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ดูงานด้านวิชาการ เข้าหารือร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 และข้อดีข้อเสียของการล็อกดาวน์ พื้นที่กทม. หลังจากยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น ย้ำทุกอย่างต้องมีการประเมินก่อนตัดสินใจปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยบวก ซึ่งศบค.จะเป็นผู้พิจารณา เบื้องต้นยังไม่มีแนวทางการปรับลดการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อจาก14 วัน เป็น10 วัน 

สำหรับเดือนนี้ฉีดวัคซีน ทะลุ 10 ล้านโดสแน่นอน และวัคซีนมีการกระจายจัดสรรยังพื้นที่ต่างๆมากขึ้น โดยเฉพะเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ก็ได้มีการฉีดวัคซีนเกือบครอบลุมประชากรแล้ว เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ เชื่อว่าจะค่อยๆทยอยเปิดด้วยความระมัดระวัง 

อนุทิน ยืนยัน! ยังบริหารจัดการ “เตียงผู้ป่วยโควิด” ได้

สถานการณ์เตียง นายอนุทิน ยืนยัน ยังบริหารจัดการได้ควรมองในภาพใหญ่ไม่ใช่มองแต่พื้นที่กทม. ซึ่งตอนนี้มีการร่วมมือกับ กทม. ในการบริหารจัดการร่วมกัน และแบ่งพื้นที่โซนรับผิดชอบ ขณะนี้พยายามกระจายผู้ป่วยสีเหลืองไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลรอบกทม.และปริมณฑล เพื่อให้ในกทม.มีเตียงเหลือเพียงพอในการรับผู้ป่วยกลุ่มใหม่เข้ามา 

ส่วนกรณีที่ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เพิ่มจำนวนเตียงโควิดสีแดงให้ได้อย่างน้อย 100 เตียง และจัดหาเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ นายอนุทิน ระบุว่า เตียงยังมีเพียงพอเพราะขณะนี้ รพ.บุษราคัม ยังเพิ่มศักยภาพเตียงได้อีกจาก2,000 เตียง เป็น 5,000 เตียงได้ แต่ปัญหาตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรเพื่อควบคุมพื้นที่ต่างๆในการลดการติดเชื้อ อีกทั้งได้หาสถานที่การรักษาผู้ป่วยโควิดเพิ่ม เหมือนรพ.บุษราคัมในพื้นสี่มุมเมือง ด้านเหนือ รพ. ธัญารักษ และ รพ.ราชวิถี2 ด้านตะวันตก กรมควบคุมโรคจะไปหารือ กทม. ที่รพ.ผู้สูงอายุ บางขุนเทียน ด้านตะวันออกจะเป็นในส่วนพื้นที่เขตบางนา บางพลี บางบ่อ สมุทรปราการ  ซึ่งหากจัดหาสถานที่พร้อม ก็สามารถดำเนินการได้ทันที 

กรณีที่โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลอื่นงดรับตรวจโควิดและงดรับผูป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากปัญหาเตียงเต็ม นายอนุทิน ระบุว่า โรงเรียนแพทย์เหล่านี้ ต้องจัดการเรียนการสอนด้วย นอกจากให้การรักษาผู้ป่วย ทำให้ต้องจำกัดการให้บริการลง แต่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถให้บริการได้อยู่ ยืนยันการขยายเตียงยังสามารถบริการจัดการได้ ส่วนที่มีการโพสต์ตามโลกออนไลน์ถึงปัญหาการรอเตียงนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปติดตามทันทีมีการแก้ไขปัญหาแต่ก็ยอมรับว่ามีบางกรณีที่เป็นเฟคนิวส์ 

ด้านศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า การฉีดวัคซีนในวันนี้ เป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม พระราชทานจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โปรดเกล้าฯพระราชทาน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2564  ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 หน่วยงานที่เข้ารับพระราชทานเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา 

ราชวิทยาลัยฯ จัดสรรฉีดให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อยและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงในวันนี้จำนวน 6,400 โดส แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ ผู้พิการ ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัด พระ นักบวช ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง และกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงระบบจองวัคซีน โดยหลังจากวันนี้แล้วก็จะมีการฉีดให้คนกลุ่มนี้เรื่อยๆ วัคซีนที่นำมาฉีดจะได้รับจากหน่วยงานและองค์กรที่ซื้อวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งทุกยอดการซื้อต้องบริจาค เพื่อนำมาฉีดให้คนด้อยโอกาส 10 เปอร์เซนต์ ( กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ70 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้ป่วยชุมชุนแออัด กลุ่มพระสงฆ์ ที่ไม่วามารถเข้าสู่ระบบปกติได้ง่าย อย่างเช่น คนทำงาน หาเช้ากินค่ำ หาบเร่ แผงลอยริมถนน ) 

โดยอาจจะจัดเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ หรือให้มาลงทะเบียนที่ราชวิทยาลัยฯ รวมถึง ขณะนี้ประสานจัดหาสถานพยาบาลในการฉีดที่มีจิตอาสาในการช่วยฉีดให้กับกลุ่มนี้ เนื่องจากต้องกระจายฉีดให้กลุ่มเหล่านี้ ที่มีมากถึง 1 แสนคนจึงต้องกระจายช่วยกัน 

อนุทิน ยืนยัน! ยังบริหารจัดการ “เตียงผู้ป่วยโควิด” ได้

ส่วนวัคซีนซีโนฟาร์มล็อตที่ 2  จำนวน 1 ล้านโดส จะเข้ามาต้นเดือนกรกฎาคมและจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ลงทะเบียนขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม  อยู่ระหว่างการพิจารณาและรับการจัดสรรเนื่องจากบางแห่งขอมาในจำนวนมากเช่น 5 แสนโดส  

ศ.นพ.นิธิ ระบุว่า บางแห่งอาจจะได้รับวัคซีนไม่ถึงจำนวนที่ร้องขอมา ทั้งนี้ ตามหลักการจะพิจารณาไม่ให้ซ้ำซ้อนกับที่รัฐบาลได้จัดสรรให้และปูพรม แต่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเน้นการฉีดเป็นกลุ่มกิจกรรมกิจการ ตัวให้ระบบกิจกรรม กิจการงานสามารถทำงานต่อไปได้ 

ส่วนกลุ่มรายบุคคลที่มีความประสงค์ขอซื้อวัคซีน ซิโนฟาร์มฉีด ซึ่งถามกันเข้ามามาก ศ.นพ.นิธิ ระบุว่า ขอให้รออีก2-3 สัปดาห์ เนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณากระบวนการดำเนินงาน ซึ่งอาจจะต้องหา รพ.ที่มีจิตอาสามาช่วยดำเนินการในการฉีดด้วย

สำหรับข้อเสนอลดผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ในขณะนี้ ศ.นพ.นิธิ  ระบุว่า ตนได้เคยเสนอแนวทางไปตั้งแต่การระบาดช่วงแรกๆ เช่น การระบาดที่สถานบันเทิง โดยให้พิจารณาแนวทางปิดเป็นบางพื้นที่ บางกิจการ ที่มีการแพร่ระบาด จึงต้องมีการปิดโดยทันทีเพื่อควบคุมโรค แต่เสียดายที่แนวทางที่ตนเสนอทั้งที่ควรจะทำนานแล้ว ขณะที่การล็อกดาวน์กทม. ตนมองว่า ควรที่จะปิดเป็นบางกิจกรรม หรือ บางเขตที่พบการแพร่ระบาด ไม่จำเป็นที่จะต้องปิดทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะมองว่าไม่เกิดประโยชน์และอาจจะกระทบกับภาคเศรษฐกิจ แล้วก็ไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่าสถานการณ์เชื้อจะลดจำนวนลงเมื่อไหร่เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก 

พร้อมว่าย้ำการที่จะควบคุมโรคได้คือตอนนี้ต้องเร่งการฉีดวัคซีนโควิคให้ครอบคลุมประชากรในประเทศ ซึ่งจะเห็นผล จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ควบคู่กับมาตรการทางด้านสังคมและสาธารณสุข หยุดการเคลื่อนที่ของประชากรลง ทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น หากทุกคนอยากจะกลับไปใช้ชีวิตปกติต้องร่วมมือกันในมาตรการต่าง โดยคาดการณ์ปลายปีหน้า สถานการณ์ covid จะคลี่คลายและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ 

ทั้งนี้ ได้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มองวัคซีนซีโนฟาร์ม รุ่นการผลิตที่ 2  พื่อตอบสนองต่อสายพันธุ์อื่นๆด้วยรวมถึงพิจารณาวัคซีนยี่ห้ออื่นด้วย ที่จะมารองรับสายพันธุ์ต่างๆและการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน พี่อาจจะต้องมีการฉีดเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง