TNN online ทำความรู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ทำความรู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ทำความรู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ทำความรู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' เพื่อใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการป่วยของผู้ป่วยโควิด-19

"ยาฟาวิพิราเวียร์" ถูกพูดถึงกันมาก หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา "ยาฟาวิพิราเวียร์" จำนวน 2 ล้านเม็ด ได้จัดส่งจากประเทศญี่ปุ่น มาถึงประเทศไทย และภายในเดือน พ.ค.นี้ จะมีการจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาเพิ่มอีกจำนวน 1 ล้านเม็ด รวมเป็น 3 ล้านเม็ด ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ 


ยาฟาวิพิราเวียร์ มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ปัจจุบันมีการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ป่วยโควิด-19 


ระหว่างปี 2557-2559 มีการใช้ยานี้ในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา ในแถบอาฟริกาตะวันตก ซึ่งจากข้อมูลการใช้ยานี้ ในอาสาสมัคร ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา จำนวนกว่า 2,000 คน พบว่า ยามีความปลอดภัย 

 

ประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ก็ต่อเมื่อรับประทานยาเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ได้เป็น favipiravir ribosyl triphosphate ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase (หรือ RNA replicase) ซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication)


สารออกฤทธิ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย แต่ยานี้ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์

นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีภายใน 1 ชั่วโมง ก่อนยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับเกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ


ยาฟาวิพิราเวียร์ ถูกนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศจีน และเป็นที่ยอมรับว่า ให้ผลการรักษาได้ดี และทางบริษัทเภสัชกรรมจีน ก็ได้รับอนุมัติให้ผลิตสำหรับใช้ในประเทศ 


ส่วนในประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับ สวทช. ดำเนินการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบ ยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว และ อยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2564 รวมทั้งจะศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่นๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาวัตถุดิบยาที่มีความจำเป็น สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศไทย 

         

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง