TNN online หมอธีระ เปิดผลวิจัย "โควิด-19" ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระ เปิดผลวิจัย "โควิด-19" ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง

หมอธีระ เปิดผลวิจัย โควิด-19 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง

หมอธีระ เปิดผลวิจัยจากอเมริกา โควิด-19 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง ย้ำติดโควิดไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่มีโอกาสเกิดปัญหา Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน

วันนี้( 17 เม.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

โดยระบุว่า "17 เมษายน 2565 ทะลุ 504 ล้านคนไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 559,952 คน ตายเพิ่ม 1,567 คน รวมแล้วติดไปรวม 504,190,244 คน เสียชีวิตรวม 6,221,498 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี ญี่ปุ่น และเยอรมัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.23 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.81 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 39.49 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 38.35 

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 20.79% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...โควิด-19 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง

งานวิจัยจากอเมริกาโดย Woolf SH และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สากล JAMA Network Open เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาืเปรียบเทียบให้เห็นผลของการระบาดระลอกแรกของโรคโควิด-19 ใน 22 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศต่างๆ ที่มีการระบาดหนัก ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ย่อมทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศนั้นสั้นลง

ทั้งนี้ในปี 2020 ซึ่งระบาดระลอกแรกนั้น ประเทศที่มีการคุมการระบาดได้ดี (เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์) จะมีอายุขัยเฉลี่ยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีการระบาดหนัก จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยลดลง โดยสหรัฐอเมริกาลดลงมากที่สุดถึงเกือบ 2 ปี

งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นสัจธรรม และความสำคัญของการควบคุมป้องกันโรค แน่นอนว่า หากมีการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากระลอกเดลต้าและ Omicron ผลกระทบน่าจะมากกว่าที่เห็นจากระลอกแรก

อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น ไม่ได้เกิดผลกระทบเพียงการเสียชีวิตและอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีความสูญเสียด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วย ผลิตภาพโดยรวมที่ลดลงจากการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID รวมถึงผลกระทบทำให้ปีสุขภาวะของคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง (Health adjusted life expectancy: HALE) แปลว่าจำนวนปีโดยเฉลี่ยที่คนจะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ 

เน้นย้ำว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่มีโอกาสเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องส่วนตัว ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนใกล้ชิด และการทำงาน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายทั้งของตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด จะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องใส่ใจสุขภาพ ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่าง พบปะคนอื่นใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น และหากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิด และแยกตัวไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน 

อ้างอิง

Woolf SH et al. Changes in Life Expectancy Between 2019 and 2020 in the US and 21 Peer Countries. JAMA Netw Open. 2022;5(4):e227067."





ภาพจาก AFP/Thira Woratanarat 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง