TNN online จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “เอไอ” ถูกกล่าวขวัญว่าจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ และชีวิตประจำวันมากขึ้นในอนาคต จนหลายคนกังวลใจว่า เมื่อโลกมีเอไอเข้ามาช่วยงานแล้ว ต่อไปเราจะทำงานอะไรกัน 

แต่สำหรับจีนแล้ว รัฐบาลมีทัศนคติเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเอไอในเชิงบวก โดยให้การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จาก การกำหนดให้เอไอเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาตามนโยบาย Made in China 2025 ส่งผลให้สถานะด้านเอไอของจีนในเวทีโลกขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ในด้านวิชาการ ผลงานวิจัยและสิทธิบัตรในด้านนี้ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว และก้าวแซงทุกประเทศขึ้นเป็นผู้นำในด้านนี้อย่างชัดเจน ด้วยแผนงานและความพร้อมในการพัฒนา และโมเมนตัมดังกล่าว  ทำให้รัฐบาลจีนมั่นใจในความเร็วในการพัฒนาในอนาคต ถึงขนาดประกาศเมื่อปี 2017 ว่าอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ของจีนจะก้าวขึ้นสู่เบอร์หนึ่งของโลกภายในปี 2030 

จีนยังต้องการนำเอาปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้กับโลกธุรกิจในเชิงรุก ควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่องานที่เหมาะสมไปพร้อมกัน วันนี้ ผมจะพาไปรู้จัก จู หมิงเจีย (Zhu Mingjie) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ของจีนที่มีความฝันเฉกเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่อยากเปลี่ยนโลกด้วยความรู้ ... 

จู หมิงเจีย หรือที่เพื่อนๆ เรียกกันในชื่อเล่นว่า MJ นับเป็นเด็กพรสวรรค์กลุ่มแรกๆ ของจีนที่จบการศึกษาในด้านเอไอจาก University of Science and Technology of China ในปี 2004 และจบปริญญาเอกในโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยดังกล่าวกับ Microsoft Research Asia หลังจากนั้น เขายังไปศึกษาเฉพาะทางในระดับ Post-Doctoral Studies ด้าน Informatics ในสาขาการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) ขนาดใหญ่ที่ Max Planck Institute เยอรมนี 

หลายเหตุการณ์นับแต่ช่วงเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีได้ช่วยหล่อหลอมและสร้างแรงบันดาลให้กับจู หมิงเจีย โดยแรงบันดาลใจแรกๆ เกิดขึ้นในระหว่างปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัยจากการชมภาพยนตร์ “Roaring across the Horizon” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านระเบิดปรมาณู จรวด และดาวเทียมในทศวรรษ 1960 ที่มหาวิทยาลัยจัดให้คณะนักศึกษาร่วมกิจกรรมกัน แต่ได้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจเบื้องต้นให้กับจู หมิงเจีย

การอุทิศตนของนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของจีนที่ใช้ชีวิตทุ่มเททำวิจัยและใช้ชีวิตหลายปีในพื้นที่ทะเลทรายที่มีสภาพแวดล้อมที่เรียบง่ายและไม่ดีมากนัก ก็เป็นอีกสิ่งแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้จู หมิงเจีย ครุ่นคิดเกี่ยวกับอนาคตของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

แต่สุดยอดของแรงบันดาลใจที่ทำให้จู หมิงเจีย ตัดสินใจเรียนด้านปัญญาประดิษฐ์ก็คือ การได้มีโอกาสสนทนาในช่วงเวลาสั้นๆ กับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของจีนอย่าง เชิน เซียงหยาง (Shen Xiangyang) ที่ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของไมโครซอฟท์ในขณะนั้น 

จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในวันนั้น เชิน เซียงหยางบอกกับเขาว่า “ระบบข้อมูลจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่ใหญ่สุดของมวลมนุษยชาติ ... พวกเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการพาดผ่านของสองยุคสำคัญ อันได้แก่ การก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจของจีน และการปฏิรูปด้านดิจิตัลและข้อมูล”

จู หมิงเจีย มีแรงบันดาลใจของตนเองที่ต้องการ “สร้างประโยชน์แก่สังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ซึ่งปรากฏชัดทั้งในด้านวิชาการและการประกอบธุรกิจในหลายปีที่ผ่านมา 

ในด้านวิชาการ จู หมิงเจีย มีผลงานวิจัยและตีพิมพ์บทความในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเหมืองข้อมูล การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีการค้นหาทางอินเตอร์เน็ตแล้ว รวมทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่หลายสถาบันการศึกษา อาทิ University of Florida ที่ เมืองเกนสวิลล์ (Gainesville) มลรัฐฟลอริด้า สหรัฐฯ Tongji University ที่เซี่ยงไฮ้ และ Nanjing University of Aeronautics and Astronautics แห่งนครหนานจิง มณฑลเจียงซู

จู หมิงเจีย สั่งสมประสบการณ์การทำงานกับหลายองค์กร อาทิ Yahoo Labs ที่ปักกิ่ง และ eBay Search Science รวมทั้งก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลของ Ctrip ในปี 2013 โดยรับผิดชอบเกี่ยวกับแพล็ตฟอร์มข้อมูลพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ระบบการเรียนรู้ของเครื่องอัจฉริยะ 

ก่อนออกมาเปิดกิจการของตนเอง เขายังฝากผลงานมากมายไว้กับ Ctrip อาทิ การจัดตั้งฝ่ายบิ๊กดาต้า และการสร้างแพล็ตฟอร์มเอไอ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเฉพาะตัว การให้คำแนะนำในการค้นหา และระบบการโฆษณา ได้อีกหลายเท่าตัว 

ในปี 2015 จู หมิงเจีย จึงตัดสินใจออกมา “ตามล่าฝัน” ผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการที่อยากจะปรับเปลี่ยนและต่อยอดขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดั้งเดิมของจีนด้วยระบบดิจิตัล โดยก่อตั้งและเป็นซีอีโอของ CraiditX สตาร์ตอัพที่มุ่งเน้นการการผสมผสานเอไอกับโลกการเงินเข้าด้วยกัน 

เพื่อให้สามารถนำเอาจุดแข็งของการเรียนรู้ของเครื่องไปใช้ในการดึงเอาคุณค่าของข้อมูลทางการเงินที่ซ่อนอยู่ผ่านทางเลือกความเป็นไปได้ออกมาใช้ประโยชน์สูงสุด CraiditX ได้เดินหน้าพัฒนาเครื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์ของตนเองจนสามารถครอบครองสิทธิบัตรมากกว่า 60 ชิ้น  

จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

CraiditX ช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างทางออกในการควบคุมความเสี่ยง พัฒนาระบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าของธนาคารอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ขนาดของสินเชื่อในแต่ละสถาบันการเงินที่บริษัทฯ เข้าไปให้บริการขยายตัวกว่า 100 ล้านเท่า และช่วยให้ธนาคารและลูกค้าจำนวนหลายสิบล้านรายได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้

จู หมิงเจีย พยายามใช้ความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่โดดเด่นในวัยเรียน ไปสานต่อความสำเร็จในโลกธุรกิจ “พวกเรามุ่งเป้าที่จะแก้ไขปัญหาที่สร้างความยุ่งยากมากที่สุดด้วยวิศวกรรมเอไอ ความรู้ของสายงาน และการบูรณาการ” จู หมิงเจียกล่าวไว้ จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทฯ ที่เขาก่อตั้งขึ้นก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัพชั้นนำด้านเอไอของจีนเพียงไม่นานหลังจากนั้น

ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังได้นำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปขยายความร่วมมือทางธุรกิจในเชิงลึกกับราว 90% ของธนาคารชั้นนำของจีน อาทิ Industrial and Commercial Bank of China, China Construction Bank, Bank of Communications, China Merchants Bank และ Shanghai Pudong Development Bank โดยนำเอาเอไอเข้าไปช่วยพัฒนาด้านการควบคุมความเสี่ยง การตลาด บริการลูกค้า และบริการตรวจจับความผิดปกติของธุรกรรม

ด้วยความพยายามในการที่จะตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจมหภาคและการส่งเสริมจิตวิญญาณของนักวิทยาศาสตร์ จู หมิงเจีย ยังเข้าไปมีบทบาทสำคัญกับงานใหญ่ในหลายส่วน และก่อให้เกิดผลเชิงบวกในวงกว้าง

 จู หมิงเจีย ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของจีนเขียนบทความวิชาการเรื่อง “สู่ยุคใหม่ของปัญญาประดิษฐ์ในจีน” ที่แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานะ ลักษณะพิเศษ และการวางแผนการพัฒนาด้านเอไอของจีนในช่วงปี 2015-2030 ด้วยกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา และอื่นๆ ในแต่ละช่วงเวลา รวมตลอดถึงการเผชิญกับความท้าทายและการประยุกต์ใช้เอไอในแต่ละอุตสาหกรรมของจีน และอื่นๆ 

หัวใจสำคัญของบทความได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ของปัญญาประดิษฐ์ในการเป็น “ตัวเพิ่มพลัง” ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และสภาพปัจจัยแวดล้อมของจีนที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้บริการของคนจีนจำนวนมหาศาลที่กระจายไปในด้านต่างๆ อาทิ การบริโภค การเงินการธนาคาร รถไร้คนขับ และการรักษาพยาบาล ระดับการแข่งขันภายในประเทศ และการส่งเสริมของภาครัฐ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับธุรกิจในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเอไอของจีนสู่เวทีระหว่างประเทศ 

ประการสำคัญ บทความนี้ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในวารสารย่อย “Nature Machine Intelligence” ในเครือเดียวกับวารสารนานาชาติ “Nature” จนสร้างกระแสข่าวและความสนใจที่สะท้อนถึงบทบาทของจีนในอุตสาหกรรมเอไอโลก โดยมีเซี่ยงไฮ้เป็นหัวหอก 

จู หมิงเจีย และคณะผู้เขียนบทความดังกล่าวได้รับรางวัลดีเด่นในช่วงพิธีเปิดงานประชุมวิชาการระดับโลกอย่าง World Artificial Intelligence Conference 2021 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ นครเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการนี้มีคนสนใจเข้าไปชมออนไลน์จากทั่วโลกรวม 352 ล้านวิว ซึ่งนับเป็นงานด้านเอไอระดับโลกอย่างแท้จริง 

ภายหลังความสำเร็จในการให้สนับสนุนการพัฒนาเซี่ยงไฮ้สู่การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ จู หมิงเจีย ได้รับยกย่องจากสาธารณชนและรางวัลมากมายจากรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ ผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ดีเด่นของเซี่ยงไฮ้ และเขตฉางหนิง และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ดีเด่นของเซี่ยงไฮ้ 

ในความพยายามที่ต้องการก่อตั้ง “ชุมชนเอไอ” เพื่อดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการปัญญาประดิษฐ์ในเซี่ยงไฮ้เข้าด้วยกัน จู หมิงเจีย จึงร่วมก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการบริหารกลุ่มพันธมิตรนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Young Scientists Alliance) ในปี 2018 เพื่อเป็นเวทีหนึ่งที่ช่วยบ่มเพาะและสนับสนุนส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ไปสู่ความสำเร็จด้านวิชาการและธุรกิจ และขับเคลื่อนการยกระดับให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางด้านเอไอของโลก


จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ปัจจุบัน กลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าวเชิญบุคลากรชั้นนำในด้านนี้มาร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร อาทิ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างเชิง เซียงหยาง และนักธุรกิจชั้นนำจาก Amazon และ SenseTime ขณะที่สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่มีพรสวรรค์กว่า 50 รายที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 26 ปี และครึ่งหนึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิ MIT และ Stanford 

นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ยังเป็นเวทีในการบูรณาการทรัพยากรจากแต่ละส่วน เพื่อสานต่องานด้านวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และการผลิตผลงานวิจัย โดยได้รับทุนการศึกษาจากบิ๊กเทคของจีน อาทิ Baidu และกลุ่มนักลงทุนมากมาย

ขณะที่ CraiditX บริษัทที่จู หมิงเจีย ก่อตั้งขึ้นแห่งแรก ก็ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมจากสมาพันธ์คอมพิวเตอร์แห่งชาติจีน และการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญด้านการพัฒนาเอไอของนครเซี่ยงไฮ้

ในมุมมองของเขา ปัญญาประดิษฐ์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพและอุตสาหกรรม แต่ความรวดเร็วและต่อเนื่องจะเกิดขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรมได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ประการแรก สภาพอุตสาหกรรมนั้นๆ ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก และจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง 

ประการที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมนั้นๆ ที่พร้อมสรรพในเชิงเปรียบเทียบ กล่าวคือ อุตสาหกรรมต้องมีระดับของความเป็นดิจิตัลที่เหมาะสม มีข้อมูลที่สามารถถูกรวบรวมได้ และการมีอยู่ของระบบเซ็นเซอร์และหุ่นยนต์อัจฉริยะ

ประการที่ 3 กฎระเบียบทางธุรกิจของอุตสาหกรรมนั้นๆ ที่ได้รับการพัฒนา และมีกำลังซื้อที่ดี เพื่อที่ธุรกิจจะได้สามารถทำกำไรได้  

ในกรณีของอุตสาหกรรมการเงินที่บริษัทฯ ของเขาเข้าไปดำเนินธุรกิจในช่วงหลายปีหลังนั้น ภาคการเงินการธนาคารถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแรกๆ ที่พัฒนาความเป็นอิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูล 

ขณะที่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี และลูกค้าก็ยินดีจ่ายเงินเพื่อการจัดหาบริการและผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถนำเอาเอไอไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาและสร้างรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมยิ่งขึ้นได้ในหลายกรณี อาทิ การควบคุมความเสี่ยง การป้องกันการฟอกเงิน สินเชื่อ และอื่นๆ อันจะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น

รัฐบาลจีนยังเปิดไฟเขียวให้นำระบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้ไปต่อยอดใช้ในระบบสินเชื่อกลาง (Central Credit System) ของจีน โดยดึงประโยชน์สูงสุดจากคุณค่าของบิ๊กดาต้าที่อาจอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันเข้าสู่ระบบการประเมินเครดิตของภาคประชาชน 

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจพอจินตนาการต่อและเข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลจีนจึงต้องการพัฒนาศูนย์บิ๊กดาต้าแห่งชาติที่มณฑลกุ้ยโจว และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังกำหนดเงื่อนไขให้แพล็ตฟอร์มที่มีลูกค้าตั้งแต่ 1 ล้านรายขึ้นไปต้องถ่ายโอนข้อมูลของลูกค้าที่กำหนดเข้าสู่ระบบกลาง

ในอนาคตอันใกล้ ระบบการประเมินสินเชื่อที่เราเห็นในแพล็ตฟอร์มใหญ่อย่างแอ๊นท์กรุ๊ป (Ant Group) จะถูกยกระดับเข้าสู่ระบบการประเมินสินเชื่อกลางที่ชาวจีนสามารถประเมินและขอสินเชื่อได้ในชั่วเวลาเพียงเสี้ยวนาที วงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอาจถูกกำหนดขึ้นแบบเฉพาะตัวบุคคลตามระดับความเสี่ยงที่ประเมินจากข้อมูลของแต่ละคน

ระบบดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของภาคประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการของสถาบันการเงินของจีน ยิ่งระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความไร้พรมแดนมากขึ้น ก็หมายความถึง ขีดความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสทางธุรกิจของสถาบันการเงินของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นในเวทีโลกนั่นเอง 

จีนปั้นผู้เชี่ยวชาญเอไอรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกธุรกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จู หมิงเจีย แห่ง CraiditX นับเป็นดาวรุ่งที่กำลังเจิดจรัสในวงการเอไอของจีน และจะมีบทบาทในการยกระดับอุตสาหกรรมการเงินของจีนในอนาคตอันใกล้ ขอให้ท่านผู้อ่านจดจำชื่อเด็กพรสวรรค์คนนี้เอาไว้ให้ดี ผมเชื่อว่า เราจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับตัวเขาและกิจการที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีกมากอย่างแน่นอน

ประการสำคัญ ผมเชื่อมั่นว่า จีนก็จะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เราน่าจะได้เห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ของจีนในภาพใหญ่ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขณะเดียวกันก็แทรกตัวเข้าไปเติมพลังให้แก่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นของจีนอย่างกว้างขวางในอนาคต 

ด้วยจำนวนประชากรภายในประเทศราว 1,450 ล้านคนที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากนโยบายลูกสามคน และช่วงอายุเฉลี่ยของคนจีนที่ยืนยาวขึ้น กฎหมายพื้นฐานและทัศนคติเชิงบวกของประชาชนที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน แผนพัฒนาและมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จริงจังและต่อเนื่องของภาครัฐ และความเก่งกาจของทรัพยากรมนุษย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจีน ทำให้จีนมีความได้เปรียบเหนือชาติอื่นๆ 

โลกกำลังเดินเข้าสู่สนามแข่งขันที่จีนมีความพร้อมและความได้เปรียบเหนือชาติอื่นๆ  ปัญญาประดิษฐ์กำลังเป็นเชื้อเพลิงอันทรงพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้เร็วกว่าที่คิดซะแล้ว ...

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง