TNN online จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนา “รถไฟความเร็วสูง” (Hi-Speed Train) อย่างรวดเร็ว และอาจระแคะระคายเกี่ยวกับ “รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า” (Maglev) ของจีนมาแล้วไม่มากก็น้อย วันนี้ผมจะพาไปขุดคุ้ยสถานะล่าสุดและแผนงานในอนาคตของ Maglev ตัวใหม่กันครับ ...

จากความ “หวานเย็น” และตู้โดยสารรถไฟที่อัดแน่นและอบอวลไปด้วย “กลิ่นอับ” ของรถไฟจีนในอดีต วันที่ 1 สิงหาคม 2008 ถือเป็น “จุดเริ่มต้นแห่งยุครถไฟความเร็วสูงของจีน” เมื่อรถไฟเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจินเปิดให้บริการแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก 

หลังจากนั้น จีนก็พัฒนารถไฟความเร็วสูงชนิด “ติดจรวด” รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการพัฒนารถไฟ ทั้งในรูปของการวิจัยและพัฒนา ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ การสนับสนุนด้านสินเชื่อ การประเมินราคาที่ดิน และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นก็ให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพราะเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว 

ด้วยระบบที่ดีและความมุ่งมั่นทำจริง โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการก่อนกำหนด บริการรถไฟความเร็วสูงมีความเที่ยงตรงและช่วยลดระยะเวลาการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางถึง 1-3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับของรถไฟในอดีต แถมยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ และไม่ต้องอึดอัดในพื้นที่แคบๆ อีกด้วย

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

 สิ้นปี 2010 จีนก็มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเป็นระยะทางถึง 10,000 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ามากที่สุดในโลก แต่ก็จีนก็ยังเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพียงไม่ถึง 5 ปีหลังจากนั้น จีนก็มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทางรวมกว่า 16,000 กิโลเมตร มากกว่าของฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสเปนรวมกันถึงกว่าเท่าตัว และยาวกว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในสหภาพยุโรปทั้งหมดรวมกันเสียอีก

ปัจจุบัน จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยาวรวม 37,900 กิโลเมตร มากกว่าของทุกประเทศในโลกรวมกัน และให้บริการด้วยรถไฟรุ่นใหม่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้รถไฟความเร็วสูงในจีนมีหลายระดับความเร็วในแต่ละเส้นทาง ที่เร็วสุดก็ได้แก่ เส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ที่ให้บริการด้วยความเร็ว 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ด้วยคุณสมบัติที่ดีหลายประการ รถไฟความเร็วสูงในจีนมีสัดส่วนการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริการดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านลอจิสติกส์ รวมทั้งกระจายความเจริญ ลดอัตราการใช้พลังงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เท่านั้นไม่พอ ในแผนพัฒนารถไฟของจีนระหว่างปี 2021-2035 กระทรวงการรถไฟจีนยังกำหนดเป้าหมายในแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงว่าจะขยายเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงให้เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเป็น 70,000 กิโลเมตรภายในปี 2035 

ขณะเดียวกัน จีนยังวางแผนจะนำเอา “Internet+” และ “Internet of Things +” รวมทั้งระบบ 5G ปัญญาประดิษฐ์ และไอทีสมัยใหม่ มาช่วยยกระดับรถไฟในโลกอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ จีนยังจะ “ทำเงิน” อีกมหาศาลจากการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟสู่ตลาดโลก การพัฒนาของชุมชนเมืองตามเส้นทางรถไฟดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ รวมทั้งจีนยังต้องการใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินนโยบาย “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางจีน-ลาวที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม ศกนี้

นอกเหนือจากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงแล้ว จีนยังซุ่มเรียนลัดและต่อยอดเทคโนโลยีรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าระบบ “Transrapid” ที่คิดค้นโดยความร่วมมือของซีเมนซ์ (Siemens) ธิสเซ่นครุปป์ (ThyssenKrupp) และรัฐบาลเยอรมนีเมื่อราว 20 ปีก่อน และจีนได้นำมาเริ่มใช้ครั้งแรก  นครเซี่ยงไฮ้

หากปักกิ่ง-เทียนจีนถือเป็น “บ้านหลังแรกของรถไฟความเร็วสูง” เซี่ยงไฮ้ก็อาจถือเป็น “บ้านหลังแรกของ Maglev” โดยนับแต่ปี 2003 Maglev ตัวแรกนี้ให้บริการผู้โดยสารระหว่างตัวเมืองผู่ตง (ถนนหลงหยางและสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตงด้วยความเร็ว 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

ผู้โดยสาร Maglev ใช้เวลาไม่ถึง 8 นาทีในการเข้าชานชาลาที่ห่างออกไปราว 30 กิโลเมตรได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งผู้อ่านหลายท่านอาจได้มีโอกาสไปทดลองนั่งแล้วก่อนหน้านี้

ต่อมา จีนก็ได้พัฒนาเทคโนโลยี Maglev ความเร็วต่ำและปานกลางของตนเองที่เป็นแบบซุปเปอร์คอนดักเตอร์อุณหภูมิสูง (High-Temperature Superconductor) ไปใช้ในหลายเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ นครฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน

ในเดือนพฤษภาคม 2019 จีนสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศเปิดตัวรถไฟ Maglev ต้นแบบ ที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง โดยแย้มว่า Maglev ตัวนี้จะสามารถทำความเร็วได้ถึง 620 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหนือกว่า SCMaglev ของญี่ปุ่นที่ทำความเร็วไว้ที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จีนได้นำเอา Maglev สุดล้ำขนาดความยาว 5  โบกี้ออกจากสายการผลิตที่โรงงานเขตซื่อฟางของ China Railway Rolling Stock Corporation (CRRC) ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง แบบสดๆ ร้อนๆ ไปเผยโฉมต่อหน้าสาธารณชนและสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

Maglev ตัวใหม่นี้ถูกวางแผนว่าจะเปิดให้บริการต่อประชาชนในเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ในราวสิ้นปีนี้ ด้วยความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการก็จะถือเป็นรถไฟที่ให้บริการด้วยความเร็วที่สูงสุดในโลก โดยคาดว่าจะใช้เวลาการเดินทางที่มีระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตรระหว่างสองมหานครดังกล่าวเพียงราว 2 ชั่วโมงครึ่ง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า Maglev ชุดแรกนี้จะสามารถให้บริการได้ถึง 10 ห้องโดยสาร โดยแต่ละโบกี้รองรับผู้โดยสารได้ราว 100 คน นั่นหมายความว่า แต่ละเที่ยวจะให้บริการผู้โดยสารได้ถึง 1,000 คน มากกว่าเครื่องบินราว 3-5 เท่าตัว  

ในแผนระยะยาวการพัฒนารถไฟของจีน จีนจะขยายเส้นทางระหว่างเมืองสำคัญที่มีความยาว ระหว่าง 1,000-1,500 กิโลเมตรในอีกหลายเส้นทาง อาทิ การขยายต่อเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ลงไปทางใต้ถึงเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างกวางโจว เซินเจิ้น และฮ่องกง หรือเส้นทางเฉิงตู-ฉงชิ่ง และเฉิงตู-ยูนานภายในราวปี 2030 

ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ เราจะสามารถเดินทางระหว่างเซี่ยงไฮ้-เซินเจิ้น โดยใช้เวลาเพียงราว 2 ชั่วโมงครึ่ง ปักกิ่ง-กวางโจว ราว 3 ชั่วโมงเศษ และเฉิงตู-ฉงชิ่งเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่า หากให้ Maglev วิ่งในอุโมงค์สูญญากาศเพื่อลดแรงเสียดทาน ก็คาดว่าจะสามารถเพิ่มความเร็วได้เป็นถึง 1,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งแหล่งข่าวเปิดเผยว่า จีนซุ่มทดลองโครงการนี้อยู่แถวมณฑลกานซู่

ภาพของรถไฟ “ลมโชย” ของจีนกำลังกลายเป็นอดีตที่หาดูได้ยาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนารถไฟความเร็วสูงหลายรุ่นมาให้บริการทั่วจีน และล่าสุดยังได้คลอด Maglev ที่โฉบเฉี่ยวตัวใหม่ออกมาให้เชยชมกันแล้ว 

เหล่านี้แสดงถึงขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมรถไฟของจีนที่เหนือชาติใดในโลกอย่างแท้จริงในปัจจุบัน 

และด้วยศักยภาพที่มีอยู่ ผมก็เชื่อมั่นว่า จีนจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำแห่งวงการรถไฟ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มหาศาลจากการส่งออกรถไฟล้ำยุคที่จีนพัฒนาขึ้นไปอีกนาน ...

ข่าวแนะนำ