TNN online สศช.ดึงเอกชน ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

TNN ONLINE

Wealth

สศช.ดึงเอกชน ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สศช.ดึงเอกชน ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สศช. จับมือภาคเอกชนรายใหญ่ ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน คาดช่วยยกระดับเอสเอ็มอี หนุนการลงทุนเพิ่ม ตอบโจทย์ SDGs หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดคาร์บอนเป็นศูนย์

วันนี้(17 เม.ย.65) นายสนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จากการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยุ่งยืน (SDGs)เป็นเป้าหมายที่แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ให้ได้ตามระยะเวลาที่แต่ละประเทศได้ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์เมื่อปีที่ผ่านมา  ดังนั้น สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ได้มีการหารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนจากภาคเอกชนที่มีการทำงานเรื่อง SDGs มาอย่างต่อเนื่องเข้ามาทำงานในคณะอนุกรรมการร่วมกัน


ทั้งนี้ได้มีตัวแทนจากภาคเอกชนกว่า 10 บริษัทเข้าร่วม เช่น บริษัทดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด บริษัทบางจากคอร์ปอเรชัน จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย บริษัท ปตท. จำกัด องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก เป็นต้น  ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อสรุปงานและขอบเขตที่เอกชนได้ดำเนินการเรื่องของ SDGs มาอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดทำแผนงานที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติได้ โดยที่ลักษณะการทำงานต้องเป็นการหนุนเสริมและไม่ซ้ำซ้อนกันเพื่อให้เกิดความรวมเร็วในการขับเคลื่อนการทำงานในเรื่องนี้


นอกจากนี้  สศช.ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้แทนภาคเอกชน เกี่ยวกับข้อคิดเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อปิดช่องว่างการพัฒนาของไทยในด้านต่างๆและขอให้เอกชนที่มีการส่งเสริมการใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ถ่ายทอดการทำงานที่สำเร็จไปยังผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งซัพพายเชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม  


สำหรับ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนให้กลายเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งสอดล้องกับทิศทางของโลกที่ต่อไปการนำเข้าสินค้า และบริการในยุโรป และประเทศพัฒนาแล้วในหลายประเทศ จะมีการนำเอาปัจจัยเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้นในเรื่องนี้ต้องมีการส่งเสริมการพัฒนารูปแบบธุรกิจให้บริการพลังงานทางเลือก การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน


ที่มา : สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  

ภาพประกอบ: พีอาร์ บ้านปู


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง