TNN online เซ่นสงคราม ! สศช.หั่นเป้าจีดีพีโตเพียง 3%

TNN ONLINE

Wealth

เซ่นสงคราม ! สศช.หั่นเป้าจีดีพีโตเพียง 3%

เซ่นสงคราม ! สศช.หั่นเป้าจีดีพีโตเพียง  3%

สศช. ลดเป้าจีดีพีปีนี้โตเพียง 3% หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนพ่นพิษดันราคาพลังงานพุ่ง ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ส่วนคนละครึ่งต้องหารือ คลัง-แบงก์ชาติก่อน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)   เปิดเผยว่า  สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 65 ลงจากระดับ 3.5 – 4.5% เหลือ 2.5 – 3.5% หรือค่ากลางที่ 3 %  เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลถึงไปอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย


ขณะที่สมมติฐานทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ปรับลดลงด้วยเช่นกัน โดยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ปรับลดลงเหลือ 3.5% จากเดิม 4.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 95-105 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี อยู่ที่ระดับ 33.30-34.30 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 32.20-33.20 บาท/ดอลลาร์


" จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อและมีการคว่ำบาตรรัสเซียที่อาจยืดเยื้อยาวนานกระทบกับเศรษฐกิจโลกหลายส่วน รวมทั้งนโยบายซีโร่โควิด ของจีนที่เข้มข้นทำให้กระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจึงได้ปรับลดเป้าจีดีพีในปีนี้ลง" 


สำหรับจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  เนื่องจากมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์โควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงกลับมา โดยการบริโภคขยายตัวได้ 3.9% ขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 10.2% แต่การก่อสร้างปรับลดลงอยู่ที่ระดับ -5.5%


ส่วนปัจจัยข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 65 ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ จากผลความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากการกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งเน้นไม่ให้มีผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ (มาตรการ Zero Covid) รวมทั้งปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก และระบบโลจิสติกส์


2. เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ จะจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่


3. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จากแนวโน้มการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องการระบาดของไวรัสโควิดเริ่มมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจลดลงจากในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึงมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง


ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น คงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเกิดขึ้นกับหลายประเทศไม่เฉพาะไทยเท่านั้น ซึ่งการดำเนินมาตรการเข้ามาช่วยเหลือทั้งของภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคเอกชน จำเป็นต้องทำอย่งต่อเนื่อง แต่จะต้องมีมาตรการที่เป็นลักษณะเฉพาะ และตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่การทำมาตรการแบบครอบคลุม เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิด Moral Hazard หรือการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมขึ้นได้ 


ส่วนการใช้มาตรการคนละครึ่งเฟส 5 หรือ การกู้เงินเพิ่มเติมจะมีหรือไม่ หน่วยงานเศรษฐกิจอย่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องหารือร่วมกันอย่างรอบครอบถึงความจำเป็น และทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเพราะต้องมีการคิดเผื่อถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ในระยะต่อไปด้วยเพราะขณะนี้สถานการณ์โลกถือว่าไม่ปกติและมีความไม่แน่นอนสูง


“สถานการณ์โลกขณะนี้ไม่ปกติ และคาดการณ์ได้ยาก ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนที่ช่วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกัน รัฐบาลจะมีการช่วยเหลือประชาชนแต่ต้องเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้าเนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด”


ที่มา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  

ภาพประกอบ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  



 





 


 


ข่าวแนะนำ