TNN online สศช.ห่วงลูกหนี้กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปเป็น "หนี้เสีย" เพิ่มขึ้น

TNN ONLINE

Wealth

สศช.ห่วงลูกหนี้กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปเป็น "หนี้เสีย" เพิ่มขึ้น

สศช.ห่วงลูกหนี้กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปเป็น หนี้เสีย เพิ่มขึ้น

สศช.แนะเฝ้าระวังหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์-ห่วงลูกหนี้อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุด

วันนี้ ( 18 ธ.ค. 65 )สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.  รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบว่า คุณภาพสินเชื่อ หรือ NPL  “ในภาพรวม” ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของสถาบันการเงิน  

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อยานยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมี สัดส่วนสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 13.6 ในไตรมาสสาม ปี 2565

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณากลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสอง ปี 2565 ยังพบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่มูลค่า NPLs ขยายตัวในระดับสูง คือ ลูกหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น ลูกหนี้อายุ 41 - 50 ปี มีหนี้เสีย 3.37 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.1 ลูกหนี้อายุ 51 - 59 ปี  มีหนี้เสีย 2.36 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.9  และกลุ่มลูกหนี้สูงอายุ หรือตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้น มีหนี้เสีย 1.54 แสนล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 67.6  ซึ่งการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มดังกล่าวจะมีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการหารายได้ลดลง และเป็นช่วงอายุที่อาจมีภาระหลักในการดูแลค่าใช้จ่ายของครัวเรือน 

อีกทั้งพบว่า ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสสอง ปี 2565 มีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสีย 4.3 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.4 ของบัญชีลูกหนี้ NPLs ทั้งหมดในฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนของเครดิตบูโร และคิดเป็นมูลค่าสูงถึงเกือบ 4 แสนล้านบาท   สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดกับลูกหนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังคงมีต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สศช. ระบุว่าในระยะถัดไป มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่ 1. ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ ครัวเรือนรายได้ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งมีจำนวนกว่า 4.7 ล้านครัวเรือนในปี 2564 

2. ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ในวงกว้างรวม 59 จังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 4.3 แสนครัวเรือน ประกอบกับปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการ ทางการเงินในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ซึ่งจะทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น  

3. อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นกว่าในอดีตและอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

สถานการณ์ข้างต้นนำมาซึ่งประเด็นติดตามและต้องให้ความสำคัญ คือ 1. การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้สูงอายุที่มีแนวโน้มหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น  ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการแก้ไข ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยหนี้ดังกล่าว

2. การมีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจาก   และ 3.  การมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา หนี้สินส่วนนี้ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถชดเชยระดับราคาสินค้าที่สูงและนำมาจ่ายชำระหนี้

ทั้งนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ไม่เกินเดือนนี้ภาครัฐน่าจะมีมาตรการออกมาด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน  ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม 

ภาพจาก  :  AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง