TNN online รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

TNN ONLINE

TNN Exclusive

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลได้ทยอยออกมา มีหลายมาตรการที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ดูเหมือนจะยืดเยื้อ ทำให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาผลกระทบทั้งในภาคธุรกิจ ลูกจ้าง ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา มาตรการของภาครัฐที่ทยอยออกมาก็มีอยู่หลายมาตรการ ดังนั้น TNN Online จึงรวบรวมมาไว้ เพื่อให้้ได้ดูกันว่า มีเงื่อนไขใดที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้บ้าง 

       มาตรการชดเชยรายได้ พยุงกำลังซื้อประชาชน 

        1. มาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19  ในกลุ่มลูกจ้าง  แรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม อาทิ  ลูกจ้างสนามมวย  ลูกจ้างโรงแรม คนรับจ้างเข็นผัก เป็นต้น  โดยจะให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com  เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และจะได้รับเงินเยียวยาผ่านบัญชีธนาคารที่มีอยู่ หรือบัญชีที่ผูกกับพร้อมเพย์ หมายเลขบัตรประชาชน  ซึ่งล่าสุดยอดผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการทะลุ 20 ล้านรายแล้ว แต่ก็ยังสามารถลงทะเบียนได้เรื่อยๆ ก่อนที่รัฐบาลจะปิดการลงทะเบียนและทยอยพิจารณาผู้ที่ผ่านเงื่อนไข พร้อมทั้งจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้เข้าร่วมโครงกรต่อไป  

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

        2. มาตรการเยียวยา กลุ่มลูกจ้างในระบบประกันสังคม-มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานบริษัท พนักงานห้างสรรสินค้า พนักงานสถานศึกษา พนักงานของสถานประกอบการ รัฐก็ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือ ได้แก่ 

        - กรณีนายจ้างหยุดกิจการ-นายจ้างปิดเอง ประกันสังคมจ่ายชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน (ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน)

        - กรณีรัฐสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว จะจ่ายชดเชยร้อยละ 50 ไม่เกิน 60 วัน (ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน)

        - กรณีลาออก จ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตน ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน (4,500 บาท/เดือน)

        - กรณีเลิกจ้าง จ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตน ร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน (7,500 บาท/เดือน)

        - ขณะเดียวกัน ยังได้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 5 % เหลือ 1 % และกรณีมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 7 % เวลา 3 เดือน และขยายเวลาส่งเงินสมบท งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ออกไป 3 เดือน

        - ออกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติม เพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายวัน เพราะเหตุถูกเลิกจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 200 วัน

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

        - ออกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติม เพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้างรายวัน เพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน

         - ออกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติม ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวน 100% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 180 วัน  

        หากใครที่เป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคม ให้ไปแจ้งว่างงานได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน  https://www.doe.go.th/prd/  หรือ ขึ้นทะเบียนว่างงานที่  https://empui.doe.go.th/auth/index     และดูข้อมูลการขึ้นทะเบียนว่างงาน กรณีถูกเลิกจ้างด้วยผลกระทบโควิด-19 ที่ https://www.sso.go.th/eform_news/  

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

        3. มาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า  ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องให้ไว้กับการไฟฟ้าฯ เพื่อเป็นเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เผื่อกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่จ่ายค่าไฟก็จะได้ยึดเงินประกันไป    โดยปกติการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะคืนเงินส่วนนี้ ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก ก็ต่อเมื่อเจ้าของบ้านเดินทางไปทำเรื่องยกเลิกใช้ไฟฟ้า ซึ่งมาตรการนี้ รัฐจะคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟที่เป็นที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก  ตามอัตราค่าธรรมเนียมที่ได้จ่ายไว้กับการไฟฟ้าฯ ที่จะแตกต่างกันไป ตามขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของแต่ละบ้าน  ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมเงินประกันคืนเมื่อยกเลิกใช้ไฟฟ้าแต่ละขนาด ได้แก่   

        - มิเตอร์ขนาด 5(15) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 300 บาท หรือ บ้านพักขนาดเล็ก ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มาก)

        - มิเตอร์ขนาด 15(45) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 2,000 บาท ซึ่งเป็นขนาดมิเตอร์ที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้ 

        - มิเตอร์ขนาด 30(100) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 4,000 บาท  สำหรับ บ้านพักขนาดใหญ่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด 

        - มิเตอร์ขนาด 15(45) เฟส 3 เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 6,000 บาท  เป็นขนาดที่ประชาชนไม่นิยมใช้

        โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน เพื่อตรวจสอบสิทธิเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่าน เว็บไซต์ของ กฟภ. https://www.mea.or.th/refund/intro.html  และ กฟภ. https://www.pea.co.th/  หรือแค่เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดที่อยู่บนบิลชำระค่าไฟเดือนมีนาคม 63 เพื่อลงทะเบียนก็ได้เช่นกัน ซึ่งการคืนเงินจะได้รับผ่านบัญชีธนาคารของผู้ลงทะเบียน หรือรับคืนผ่านเคาท์เตอร์เซอร์วิส 

        4. มาตรการลดค่าไฟฟ้า  3% ระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.- มิ.ย.63) 

        5. มาตรการคืนเงินประกันการใช้น้ำประปา ให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1   แบบที่พักอาศัย   ซึ่งมาตรการนี้จะคล้ายๆกับ มาตรการคืนเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้า  ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค    ที่จะบรรเทาผลกระทบของประชาชน   โดยมาตรการคืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1   แบบที่พักอาศัย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามระเบียบข้อกำหนดการขอรับเงินคืนที่การประปานครหลวง( กปน.)และ การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)  กำหนดไว้  

        อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันและเวลาในการลงทะเบียน   โดยผู้วางเงินประกันการใช้น้ำสามารถตรวจสอบสิทธิและดำเนินการขอรับเงินประกันคืนได้ ผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่น MWAonMobile  ของกปน.  หรือผ่านช่องทางเว็บไซต์  www.mwa.co.th   และ กปภ.  www.pwa.co.th  และช่องทาง LINE OA   สามารถแอดเพิ่มเพื่อนโดยค้นหา @PWAThailand  หรือผ่านแอปพลิเคชั่น PWA1662   

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล
cr:Pixabay

        การประปาฯ จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนขอเงินประกันคืนได้   ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.นี้    และจะเริ่มจ่ายเงินประกันคืนตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมเป็นต้นไป  โดยผู้ที่ต้องการขอรับเงินประกันการใช้น้ำประปา   จะต้องกรอกข้อมูลของผู้ใช้น้ำตามขั้นตอนให้ครบถ้วน   จากนั้นรอ SMS ตอบกลับ   แล้วรอรับเงินตามช่องทางที่กำหนดไว้     ทั้งการคืนเงินประกันผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay),  บัญชีธนาคารและเคาน์เตอร์เซอร์วิส 

        6. มาตรการลดค่าน้ำประปา 3% ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ใบแจ้งค่าน้ำประปาของเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563

        7.  มาตรการขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปาโดยไม่คิดดอกเบี้ย    สำหรับ ผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรมและกิจการที่ให้เช่าพักอาศัย    รวมถึงสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน   เริ่มตั้งแต่ใบแจ้งค่าน้ำประปาของเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2563   โดยสามารถติดต่อที่สำนักงานประปาสาขาในพื้นที่ใช้น้ำ

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

        8.  เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2562   โดยกรมสรรพากรได้ขยายเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด 90 และ ภงด 91) จากเดิมที่ขยายถึง 30 มิถุนายน 2563 เป็น 31 สิงหาคม 2563 ให้สิทธิ์หักภาษีลดหย่อนสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท  เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อนำมารวมหัก ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

         9.  ยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ 1 ปี ให้กับผู้อาศัย-เกษตรกร

        มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ

        1. พักชำระเงินต้น ไม่เกิน 1-2 ปี  ,ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 10-20 ต่อปี , ลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน และ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ เช่น

        ธนาคารออมสิน ออกมาตรการ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 3 เดือน เริ่ม 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 ให้กับลูกค้าเงินกู้ทุกรายที่มีสถานะชำระปกติ   จนถึงที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563     สำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ  ที่มีเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท    และสินเชื่อ SMEs ที่มีเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท   ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2563  ส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ธนาคารออมสินช่วยลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำในปี 2563  ถึงปี 2564 จากเดิม 10% ของยอดเงินที่เรียกเก็บ เหลือ 5% ของยอดเงินที่เรียกเก็บ   จากนั้นในปี 2565 ให้ชำระในอัตรา 8% ของยอดเงินที่เรียกเก็บ และปี 2566  อัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 10%  ของยอดเงินที่เรียกเก็บ

        ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์สินเชื่อบุคคล  ของธนาคารออมสิน   https://www.gsb.or.th/GSB_Loans.aspx  

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

        ธนาคาร ธอส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.100% - 0.350% ต่อปี  โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี  (MRR)  ลดลง 0.100% ต่อปี    จาก 6.375% ต่อปี   ลดลงเหลือ 6.275% ต่อปี  ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี   ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลง 0.350% ต่อปี  จาก 6.500% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.150% ต่อปี   , ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี    ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) คงไว้ที่ 5.875 % ต่อปี   กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป 

        รวมทั้ง ได้ขยายเวลาชำระเงินกู้ ในงวดเดือนมีนาคม 2563 เพิ่มอีก 5 วัน  

        ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์สินเชื่อของธนาคาร ธอส. https://www.ghbank.co.th/product/loan

        ธนาคาร ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  MRR จากเดิมที่ร้อยละ 6.750 ต่อปี ลดลงร้อยละ 0.125 เหลือร้อยละ 6.625 ต่อปี   และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ให้สอดคล้องกับตลาดที่ ร้อยละ 0.05 - 0.35 ต่อปี  โดยมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

        ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ ธ.ก.ส. https://www.baac.or.th/th/index.php?cover_page=1         

    ส่วนมาตรการสินเชื่อของธนาคารอื่นๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของธนาคาร ที่เป็นลูกค้าอยู่ 

- ธนาคารกรุงศรี https://www.krungsri.com/bank/th/PersonalBanking/LoanProducts.html

- ธนาคารไทยพาณิชย์ https://www.scb.co.th/th/personal-banking.html 

- ธนาคารกรุงไทย https://krungthai.com/th/personal   เป็นต้น 

        สินเชื่อฉุกเฉิน   โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท  แห่งละ 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

        สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม  มีขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท

**หมายเหตุ: มาตรการต่างๆเป็นมาตรการและรายละเอียดในเบื้องต้น สามารถสอบถามรายละเอียดที่ธนาคารเจ้าของโครงการได้ทุกแห่ง 

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

        2 . โรงรับจำนำปรับลดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำ ผ่อนผันหรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้แก้ผู้จำนำ

        สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับโรงรับจำนำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

        มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19

        1. จัดหาหน้ากากผ้าให้ประชาชน 50 ล้านชิ้น

        2. เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็นตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท

        3. ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทั้งรัฐและเอกชนฟรีทั้งหมด

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

         
          มาตรการเยียวยากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

        1. ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์-สัตวแพทย์ผลัดละ 1,500 บาท/คน พยาบาลและอื่น ๆ ผลัดละ 1,000 บาท/คน

        2. ค่าตอบแทนภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งละ 1,000 บาทต่อคน

        3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 

รวมให้แล้ว! มาตรการเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาล

        มาตรการช่วยพนักงาน Work From Home 

        โดย กสทช. จะแจกอินเตอร์เน็ต 10 กิกะไบต์ ต่อคนต่อเดือน   1 คนจะได้รับสิทธิ 1 เลขหมายต่อ 1  โอเปอเรเตอร์  เพื่อสนับสนุนให้คนทำงานที่บ้าน  ตามมาตรการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ "  ไม่ต้องลงทะเบียน ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนและเปิดใช้งาน  10 เม.ย.นี้ 

       

        มาตรการเยียวยากลุ่มนักลงทุน  ในตลาดเงิน-ตลาดทุน

        1. เสริมสภาพคล่องให้กองทุนตราสารหนี้ มูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท

        2. กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท

        3. แทรกแซงตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ

        


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-โควิดนี้เราต้องรอด!ขั้นตอน ลงทะเบียน พัก ชำระหนี้รถยนต์

-พร้อมยัง!รับเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืน ต้องทำอย่างไรถึงจะได้คืนแน่นอน

-เปิดบัญชีใหม่ รับเงินเยียวยาโควิด-19 แบบไม่ต้องไปธนาคาร-ไม่เสียเงินเปิดบช.

-ส่อง"ประกันโควิด-19"เบี้ยประกันเอื้อมถึงไม่เกิน 300บ./ปี


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ