TNN online 10 ความจริง "ประกันการใช้ไฟฟ้า" ก่อนลงทะเบียนใช้สิทธิขอคืน

TNN ONLINE

TNN Exclusive

10 ความจริง "ประกันการใช้ไฟฟ้า" ก่อนลงทะเบียนใช้สิทธิขอคืน

10 ความจริง ประกันการใช้ไฟฟ้า ก่อนลงทะเบียนใช้สิทธิขอคืน

กระแสโซเชียลฯได้สร้างความเข้าใจที่คาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูล ของการ"ขอประกันการใช้ไฟฟ้า"คืน TNN มี 10 ความจริงที่ต้องรู้มาฝาก

        จากกระแสข่าวในโซเชียลฯ กรณีการยื่น "ขอคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า"   ซึ่งเริ่มเปิดลงทะเบียนกับ การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)แล้ว  ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ เกิดกระแสข่าวที่ว่า    คนที่ได้รับเงินประกันไฟฟ้าคืนไปแล้วนั้น จะไม่ได้รับความคุ้มครองเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้าอีกต่อไป  หรือแม้แต่ กรณี ค้างจ่ายค่าไฟ จะถูกตัดไปเลย เป็นต้น   ซึ่งคุณ  สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  รวมถึง กฟน. และ กฟภ.   เอง   ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ข้อความที่แชร์ต่อๆกันไปในโซเชียลฯนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน   

        ดังนั้น ทาง TNN  จึง มี 10  ความจริงเกี่ยวกับการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า   มาฝาก ดังนี้ 

10 ความจริง ประกันการใช้ไฟฟ้า ก่อนลงทะเบียนใช้สิทธิขอคืน

        
        1. การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า  ไม่เกี่ยวกับการประกันมิเตอร์  ตามที่เข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมาประชาชนเรียกให้เข้าใจง่ายว่า เป็นเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า  จึงทำให้เกิดความสับสน   

        2.  เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินที่ให้ กฟน.  และ  กฟภ. ดึงมาใช้กรณีผู้ใช้ไฟฟ้ารายนั้น ไม่ชำระหนี้ค่าไฟฟ้า   แต่หากนำเงินตรงนี้คืนกลับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว    ก็จะเป็นเรื่องของ กฟน.และกฟภ.   ต้องหารือกับ กกพ. ว่าจะสามารถบริหารจัดการหนี้ที่คาดว่าสูญได้อย่างไรบ้าง 

        3. เมื่อคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าแล้ว  เราจะยังมีชื่อในระบบตามปกติ ไม่ลบทิ้ง ยังอยู่ในฐานข้อมูลของการไฟฟ้า 

        4. กรณีค้างชำระค่าไฟฟ้า ยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม  คือ ไม่โดนตัดไฟฟ้าทันที หากไม่ชำระเกิน 2 เดือน โดยก่อนตัดจะแจ้งเตือนด้วยหนังสือ และเตือนหน้าบ้าน 1 ครั้ง แต่หากโดนตัดไฟฟ้าไปแล้ว   จะมีค่าต่อใช้ไฟฟ้า 40 บาทต่อครั้ง จ่ายได้ไม่เกิน 20.00 น. ในวันทำการ จะต่อไฟฟ้าได้เลย แต่หากวันหยุด ชำระไม่เกิน 15.00 น. จะได้รับการต่อไฟฟ้าในวันนั้น ผ่านเคาท์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา 

        5. จากกรณี ข้อ 4 อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ก็ได้   โดย  กฟน. กฟภ .กำลังคุยกับ กกพ.ว่าจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การตัดใช้ไฟฟ้า หรือไม่ อย่างไร  เพราะแต่ละปีมีคนค้างชำระจำนวนมาก เงินประกันที่เรียกเก็บมา 13,000 ล้านบาท  ไม่พอจ่าย 

        6 .มิเตอร์ไฟฟ้า เป็นความรับผิดชอบของ กฟน. และ กฟภ. หรือจะให้เข้าใจง่ายๆคือ กฟน.  กับ กฟภ. เป็นเจ้าของนั่นเอง   ไม่ใช่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า  ที่เข้าใจผิดกันพราะเดิมประชาชนมาขอใช้ไฟฟ้า   จะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน  คือ "ค่าติดตั้งมิเตอร์" และ "ค่าประกันการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้า"  ที่จะเรียกเก็บตามขนาดของมิเตอร์ 

        7. เงินประกันมิเตอร์  ประชาชนไม่ได้จ่ายมา  เนื่องจาก มิเตอร์เป็นภาระของการไฟฟ้า 2 แห่ง ประชาชนจะรับผิดชอบตั้งแต่สายไฟหลังมิเตอร์เท่านั้น

        8. กรณีมิเตอร์ไฟฟ้าเสียหาย  จากการที่มีอายุการใช้งานมานานเสื่อมสภาพ หรือเกิดจากภัยธรรมชาติที่ทำให้เสียหาย  กฟน.และกฟภ. จะดำเนินการแก้ไขให้ฟรี   ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบได้ทันที  โดยไม่มีค่าใช้จ่าย  

9. หากกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าได้ทำมิเตอร์ไฟฟ้าเสียหาย  โดยเกิดจากการใช้งานของตนเอง เช่น แตก หรือใช้ไฟฟ้าเกิน ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องซ่อมแซมหรือต้องเปลี่ยนมิเตอร์ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง  ไม่ว่าจะมีเงินประกันหรือไม่มีเงินประกันก็ตาม 

10. “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”ไม่ต้องไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ ขอให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ผ่านเว็บไซต์ของ กฟน.  (คลิ๊กที่นี่)    หรือ ดาวน์โหลด แอปฯ MEA Smart Life   และ  เว็บไซต์ของ กฟภ. (คลิ๊ก) 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เปิดขั้นตอนลงทะเบียน รับเงินเยียวยาประกันสังคม เมื่อถูกเลิกจ้างจากพิษโควิด-19

- แม่ท้องต้องอ่าน!"ฟ้าทะลายโจร" อันตรายกับหญิงตั้งครรภ์-ใช้ต้านไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือ?


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง