จับตา“สิงหาคม” พายุเข้าไทย 1-2 ลูก
“อุตุฯเตือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จะมีพายุเข้าไทยโดยตรง 1-2 ลูก แต่ปีหน้าเตรียมเผชิญภาวะเอลนีโญรุนแรง”
ช่วงนี้หลายพื้นที่ของไทย เจอฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนกำลังแรง “ตาลิม” (TALIM) ที่ได้ขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกว่างชี ประเทศจีน ไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้ไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2566 คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
“ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย” รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับรายการ “TNN News ข่าวเที่ยง” ว่า ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ประเทศไทยจะมีโอกาสมีพายุเข้าพื้นที่โดยตรงอีก 1-2 ลูก โดยพื้นที่จะเจอพายุด่านแรกคือ ภาคอีสาน จึงทำให้ช่วง 1-2 เดือนนี้ ถือเป็นโอกาสทองของไทย ที่จะกักเก็บน้ำที่จะใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
แม้ในระยะนี้ ไทยจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาพรวมในระยะ 1-5 ปีนี้ ไทยจะต้องเผชิญกับภาวะเอลนีโญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปีหน้า ที่นักวิชาการหลายคน มองว่า จะเห็นภาพของภาวะเอลนีโญที่ชัดเจน อากาศแห้งแล้งยาวนาน และสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน
สอดคล้องกับ “ธเนศร์ สมบูรณ์” ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ที่ระบุถึงสถานการณ์น้ำ ที่เริ่มน่าห่วง โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 3 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างปัจจุบันมีอยู่เพียง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 เพียงเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมาจากน้ำมือของมนุษย์
ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของมนุษย์เช่นกัน ที่จะรับมืออย่างไรกับผลที่เกิดขึ้น และจะทำอย่างไร ที่จะทำให้โลกกลับมาอยู่ในจุดสมดุลอีกครั้ง.