TNN online โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ก่อนหมดเขตยื่นออฟไลน์ -ออนไลน์

TNN ONLINE

TNN Exclusive

โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ก่อนหมดเขตยื่นออฟไลน์ -ออนไลน์

โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี  ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ก่อนหมดเขตยื่นออฟไลน์ -ออนไลน์

เตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษีปี 2564 พร้อมวางแผนทางการเงินล่วงหน้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ต้องเตรียมอะไรบ้าง ก่อนหมดเขตยื่นแบบฯ 31 มี.ค.นี้และแบบออนไลน์ 8 เม.ย.2565

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย สำหรับยืนแบบฯ ภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564 โดยสามารถยื่นภาษีแบบเอกสารได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2565 นี้แล้ว ส่วน ยื่นภาษี ทางออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 

ใครที่ที่ทำงานมานาน มีประสบการณ์การยื่นภาษีคงรู้อยู่แล้วว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือน น้องใหม่แห่งวงการยื่นภาษีและเป็นมือใหม่หัดยื่นภาษีอาจจะยังคงสับสน ว่าต้องยื่นภาษีในรูปแบบใดและต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ดังนั้น TNN Online จึงจะพาไปทบทวนข้อมูลและเช็กลิสต์เอกสารต่างๆที่จำเป็นในการ ยื่นภาษี กันอีกครั้ง 


สิ่งที่ต้องทราบอันดับแรก นั่นก็คือ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 แบบ ได้แก่

  • ภ.ง.ด.90 ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา หรือเงินปันผล 
  • ภ.ง.ด.91 ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริม เช่น พนักงานบริษัทที่รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว 


เช็กลิสต์ ก่อนยื่นภาษี

แน่นอนว่าแม้จะ ยื่นภาษีออนไลน์ หรือออฟไลน์ การเตรียมเอกสารให้พร้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด  เพราะเอกสารบางประเภทอาจต้องใช้เวลานานในการขอ และในการยื่นภาษีแต่ละครั้งต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ หากลืมรายการลดหย่อนภาษีไปแม้แต่รายการเดียว นั่นก็หมายถึงต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ก่อนทำการยื่นภาษีจึงต้องเช็กรายการและเตรียมเอกสารลดหย่อนภาษีที่มีให้ครบ  
โดย เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนยื่นภาษี ได้แก่ 

  • เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง ซึ่งในเอกสาร 50 ทวิจะมีรายละเอียดสำคัญ เช่น รายได้รวมที่แสดงให้เห็นว่า ในปีนั้นเรามีรายได้รวมเท่าไหร่ หรือเงินสมทบประกันสังคมทั้งหมด เป็นต้น 
  • เอกสารรายการลดหย่อนภาษีกลุ่มต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือบุตร เบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เอกสารช้อปดีมีคืน เป็นต้น


ยื่นภาษีอย่างไร? 

การ ยื่นภาษี สามารถยื่นได้ง่าย มีหลายวิธีให้เลือกตามที่สะดวก ดังนี้

1. กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วเตรียมเอกสารยื่นภาษีที่เกี่ยวข้อง ไปยังสำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่

2. กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้

3. ยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตัวเอง ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th

โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี  ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ก่อนหมดเขตยื่นออฟไลน์ -ออนไลน์

ภาพจาก : https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

วางแผนลดหย่อนภาษีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 

คนที่กำลังเตรียมจะยื่นภาษีหรือ ยื่นภาษี เรียบร้อยแล้ว บางคนที่รายได้ต่อเดือนเยอะ ก็อาจจะต้องจ่ายภาษีจำนวนไม่น้อย อาจเพราะไม่ได้มีการวางแผนการลดหย่อนไว้ล่วงหน้า ปีนี้ต้องเริ่มต้นวางแผนทางการเงินสำหรับการยื่นภาษีล่วงหน้าบ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหย๋แล้วหลายคนเลือกตัวช่วยในการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี นอกเหนือจากค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว ก็นิยมซื้อ  ประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิต ที่ให้ความคุ้มครองและสามารถนำไปลดหย่อนได้ด้วย  โดยค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราสามารถเตรียมพร้อมหรือวางแผนนำไปลดหย่อนภาษีได้ ก็ได้แก่

  • ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิตยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตแบบบำนาญอีกสูงสุด 200,000 บาท
  • ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF หรือสมทบทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทที่ทำงานอยู่ นอกจากจะเป็นเงินเก็บที่มีโอกาสได้กำไรแล้ว ยังใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)
  • ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะมาแทนกองทุน LTF โดยกองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)
  • ช้อปดีมีคืน แต่ในส่วนของค่าใช้จ่ายนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปี 2565 (ปีภาษีถัดไปได้) จะมอบสิทธิให้กับประชาชนที่ซื้อสินค้าหรือบริการ (ที่เข้าร่วมเงื่อนไข) แล้วสามารถนำวงเงินค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ตามจำนวนที่จ่ายจริง) แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • ซื้อบ้านและคอนโด โดยดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน-คอนโดที่เสียทั้งปี สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดถึง 100,000 บาท


ถ้ายื่นภาษี ปี 65 ล่าช้าจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้ากรณีลืมยื่นแบบภาษีภายในกำหนด ชำระภาษีไม่ครบถ้วน ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี สิ่งที่ควรรู้เลยคือ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ไม่ยอมชำระจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย บทลงโทษมีดังนี้

- กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

- กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

- เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ


โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี  ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ก่อนหมดเขตยื่นออฟไลน์ -ออนไลน์

ภาพจาก :AFP- https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

ถ้ายื่นภาษี ปี 65 ไม่ทันทำอย่างไร

หากยื่นแบบภาษีไม่ทันตามกำหนด ผู้เสียภาษีต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไป ยื่นภาษี ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น (ไม่สามารถยื่นแบบภาษีทางออนไลน์ได้) โดยต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้

- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90

- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่ จ่าย (50 ทวิ)

- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต, หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF, เอกสารยืนยันสิทธิ์ค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03) หรือเอกสารยืนยันสิทธิ์ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (ใบ ล.ย. 04) ฯลฯ

- เตรียมเงิน เพื่อจ่ายภาษีส่วนที่ค้าง รวมทั้งอาจต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มด้วย


การ ยื่นภาษี สำหรับมือใหม่แนะนำให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และเตรียมพร้อมวางแผนก่อนจะยื่นภาษี เพื่อคิดคำนวณค่าใช้จ่ายไว้ก่อนจะช่วยให้เราบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น แต่หากมีข้อสงสัยที่ไม่สามารถหาคำตอบเองได้ก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง