TNN online ซีอีโอ SoftBank ประกาศลั่นพร้อมเป็นผู้นำปฏิวัติ AI

TNN ONLINE

Tech

ซีอีโอ SoftBank ประกาศลั่นพร้อมเป็นผู้นำปฏิวัติ AI

ซีอีโอ SoftBank ประกาศลั่นพร้อมเป็นผู้นำปฏิวัติ AI

มาซาโยชิ ซน (Masayoshi Son) ซีอีโอบริษัท ซอฟต์แบงก์ (SoftBank) ประกาศปรับแผนธุรกิจ พร้อมเป็นผู้นำปฏิวัติวงการปัญญาประดิษฐ์ หลังเผยว่าตนเองคุยกับ ChatGPT ทุกวัน

ท่ามกลางกระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังร้อนแรงขึ้นทุกวัน บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทต่างมีท่าทีกับปัญญาประดิษฐ์ต่างแตกกันออกไป มีทั้งออกตัวสนับสนุนและต่อต้าน แต่ดูเหมือนว่า ซอฟต์แบงก์ (SoftBank) บริษัทยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัย จะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ยังคงเชื่อมั่นและพร้อมลงเม็ดเงินสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ โดยล่าสุดประกาศว่าพร้อมปรับแผนการลงทุนจาก 'โหมดตั้งรับ' เป็น 'โหมดรุก' และต้องการเป็นผู้นำการปฏิวัติวงการปัญญาประดิษฐ์ (AI) 


โดยเมื่อวันอังคารที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา มาซาโยชิ ซน (Masayoshi Son) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ซอฟต์แบงก์ (SoftBank) เผยกับผู้ถือหุ้นผ่านระบบสื่อสารระยะไกลว่า ตนเองเป็น “Heavy user” ของปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ แชทจีพีที (ChatGPT) โดยเขาคุยกับเจ้าแชทบอตสุดฮิตนี้เป็นประจำทุกวันเลยทีเดียว ! 


แล้วซนคุยอะไรกับ ChatGPT ?

แชตจีพีที (ChatGPT) นั้นเป็นแชทบอต (Chatbot) หรือซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ซึ่งโต้ตอบบทสนทนากับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำงานด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing: NLP) สามารถเขียนและสร้างเนื้อหาที่มีความซับซ้อนได้ในไม่กี่วินาที โดยแชตจีพีทีมีความสามารถหลากหลาย ตั้งแต่เขียนข้อความสั้น ๆ ตอบคำถามพื้นฐาน ไปจนถึงบทความขนาดยาว หรือแม้กระทั่งแต่งเพลงเลยทีเดียว 


อย่างไรก็ดี มาซาโยชิ ซนไม่ได้ลรายละเอียดมากนักว่าตนเองพูดคุยหัวข้ออะไรกับแชตจีพีทีบ้าง แต่เขาได้สั่งให้แชตจีพีทีลองเขียนการ์ตูน “เจ้าหนูปรมาณู” หรือ "Astro Boy" การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังตอนใหม่ดู และยังอธิบายว่าแชตจีพีทีสร้างผลงานได้ราวกับเป็นมนุษย์เลยทีเดียว


และนอกจากใช้บริการ แชตจีพีทีทุกวันแล้ว  มาซาโยชิ ซน ยังเผยว่าเขาพูดคุยกับ แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) บริษัทผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ChatGPT ชื่อดัง แทบทุกวันเช่นกันด้วย


ซนออกเคลื่อนไหวหลังกองทุนขาดทุนยับ

การที่ มาซาโยชิ ซน ประกาศปรับแผนการลงทุนพร้อมลงสนามวงการปัญญาประดิษฐ์เช่นนี้ ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาหน้านี้ ซนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อสาธารณะมากนัก โดยเน้นดูแลบริษัทผลิตชิปคอมพิวเตอร์ “อาร์ม” (Arm Ltd.) เป็นหลัก หลังจากที่กองทุนวิชัน ฟันด์ (Vision Fund) ของบริษัทซอฟต์แบงก์ ซึ่งเน้นลงทุนในกิจการสตาร์ตอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักเป็นประวัติการณ์  


โดยรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปีค.ศ. 2023 ระบุว่า กองทุนวิชัน ฟันด์ขาดทุนสูงถึง 4.3 ล้านล้านเยน หรือเทียบเป็นเงินไทยแล้ว นั่นหมายความว่าบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นสูญเงินไปมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ! 


ซนเผยมี AI เป็นแรงผลักดันการลงทุน 

ก่อนหน้านี้ ซนยืนยันว่า เขามีปัญญาประดิษฐ์เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลังการลงทุนต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมาเขาต้องเผชิญกับปัญหาการตัดสินใจลงทุนผิดพลาดหลายครั้ง จนบริษัทขาดทุนอย่างหนัก เช่น กรณีวีเวิร์ค (WeWork) สตาร์ตอัพด้านอสังหาริมทรัพย์สุดฉาว และ ซูม (Zoom) ร้านพิซซ่าเดลิเวอรีที่ผลิตด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น 


ดูเหมือนว่าในคราวนี้ มาซาโยชิ ซนจะเดินหมากใหม่ หันมามาลงทุนกับปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น และพร้อมขึ้นเป็น “ผู้นำการปฏิวัติปัญญาประดิษฐ์” ตามคำกล่าวอ้างของตัวเขาเอง


บรรดานักลงทุนจับตาใกล้ชิด

ท่ามกลางกระแสอันร้อนแรงของปัญญาประดิษฐ์ ทางบริษัทซอฟต์แบงก์จัดการประชุมสามัญประจำปีในวันพุธที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยนาย มาซาโยชิ ซนกล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมา เราเน้นไปที่ ‘การตั้งรับ’ เราไม่มีเงินสดในมือมากนักเมื่อสามปีที่แล้ว แต่การที่เราอยู่ในโหมดตั้งรับก็ทำให้บริษัทสร้างรายได้ได้มากถึง 5 ล้านล้านเยน” (ราว 1 ล้านล้านบาท)


นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาเขาลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ที่เขาคิดว่าจะประสบความสำเร็จ เมื่อสังคมขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ และแม้ว่าล้มเหลวไปบ้าง แต่เขาเชื่อว่าพอร์ตการลงทุนของเขาจะประสบความสำเร็จมากพอ และภายหลังการประกาศดังกล่าว หุ้นบริษัทซอฟต์แบงก์ (9984.T) ดีดตัวขึ้นร้อยละ 2.63 เป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่างการซื้อขายในช่วงเช้าวันพุธ (ตามเวลาสหรัฐฯ)


สิ่งต่อไปที่บรรดาผู้ถือหุ้นและนักลงทุนต่าง ๆ กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นจะมีท่าทีเคลื่อนไหว และมีแนวโน้มในการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในทิศทางไหนต่อไป 


ที่มาข้อมูล CNBCReuters

ที่มาภาพ JapantimesReuters

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง