TNN online 'ไมโครพลาสติก' มหันตภัยร้ายคุกคามชีวิต

TNN ONLINE

สังคม

'ไมโครพลาสติก' มหันตภัยร้ายคุกคามชีวิต

'ไมโครพลาสติก' มหันตภัยร้ายคุกคามชีวิต

มหันตภัยเงียบ 'ไมโครพลาสติก' ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำ-มนุษย์

วันนี้( 11 ก.ย.62) ถือเป็นภัยเงียบสำคัญจากขยะในท้องทะเลคือ "ไมโครพลาสติก" ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยพลาสติกจะแตกย่อยเป็นปิโตรเคมีและจะเล็กลงเรื่อยๆ จนมองไม่เห็นแต่ยังคงมีสารเคมีหลงเหลืออยู่ แพลงตอนจะกินไมโครพลาสติกเข้าไป และปลาเล็กกินแพลงตอน ปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก แล้วมนุษย์ก็จะกินปลาใหญ่อีกที ท้ายที่สุดไมโครพลาสติกจึงเข้าไปสะสมในร่างกายของมนุษย์ และทำให้เกิดอันตรายได้

จากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่าในปี 2557 พบขยะพลาสติกทั่วโลกมีมากถึง 275 ล้านตัน และมีการประมาณการณ์ว่าขยะพลาสติกราว 4.8 ถึง 12.7ล้านตัน ไปอยู่ในมหาสมุทร เนื่องจากการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ   

ไมโครพลาสติก คือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เล็กมาก ทำให้สัตว์ในทะเลกินไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไป และย้อนกลับมาสู่มนุษย์ โดยที่มาของความกังวลเรื่องไมโครพลาสติก เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2533 สินค้าประเภทเครื่องสำอาง และของใช้ส่วนตัวที่เริ่มมีการนำเอาไมโครบีดส์ มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมขัดผิว ยาสีฟัน ครีมโกนหนวด จากนั้นนักวิจัยก็ไปพบไมโครบีดส์ปนเปื้อนอยู่ในแม่น้้ำ ทะเลสาบ และในทะเล เพราะไมโครบีดส์สามารถหลุดรอดจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียไปได้ แต่จริงๆ แล้ว ไมโครพลาสติก เกิดจากสิ่งอื่นด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยที่เกิดจากอุปกรณ์ทำการประมง รวมถึงขยะพลาสติกที่อยู่ในมหาสมุทรนานๆ ก็จะกลายเป็นไมโครพลาสติกเช่นกัน

ปัจจุบันพบไมโครพลาสติก ในกระเพาะของสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่แพลงตอน ไปจนถึงปลาวาฬ จากการกินเข้าไปโดยตรง และผ่านระบบห่วงโซ่อาหาร  มีการศึกษาชิ้นหนึ่งได้ประมาณการว่า ทุกตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรในโลกนี้ จะมีไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ย 63,320 ชิ้น 

นอกจากนี้ยังพบว่า หนึ่งในสามของปลาทะเลที่สุ่มจากตลาดในประเทศอินโดเนเซีย และ รัฐคาลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเศษพลาสติก และไฟเบอร์จากสิ่งทอ อยู่ในกระเพาะของปลา 

สำหรับในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการศึกษาการปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกในหอยสองฝาบริเวณ ชายหาดเจ้าหลาวและชายหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพบไมโครพลาสติกในหอยเสียบ และหอยกระปุก โดยพบในลักษณะที่เป็นเส้นใยมากที่สุด ซึ่งคาดว่ามาจากอุปกรณ์การจับปลา 

นอกจากนี้พลาสติก ยังดูดซับสารปนเปื้อน  เช่น ยาฆ่าแมลง ดีดีที ซึ่งสารเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแบบเรื้อรัง รวมไปถึงการรบกวนระบบฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของยีน และเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อไมโครพลาสติกถูกกินโดยปลา นก หรือสัตว์ทะเล สารต่างๆ ก็จะถูกปล่อยออกมาสู่สัตว์เหล่านั้น 

แม้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องของผลของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในอาหารทะเลต่อมนุษย์ แต่ปัจจุบันไมโครพลาสติกเป็นเรื่องที่ทั่วโลกสนใจ โดยในการประชุม G7 เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย และหาทางแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติก และมีการทำความตกลงกันเพื่อให้สู่เป้าหมายการป้องกันและลดมลพิษในทะเลทุกชนิดภายในปี 2568 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย  

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง