TNN online วันแม่แห่งชาติ 2566 ทำไม "ดอกมะลิ" ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่

TNN ONLINE

สังคม

วันแม่แห่งชาติ 2566 ทำไม "ดอกมะลิ" ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่

วันแม่แห่งชาติ 2566 ทำไม ดอกมะลิ ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่

12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ไขข้อสงสัยทำไม "ดอกมะลิ" ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณหลายอย่าง

12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ไขข้อสงสัยทำไม "ดอกมะลิ" ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณหลายอย่าง


วันแม่แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี โดยปี 2566 ตรงกับวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม และเมื่อใกล้ถึงวันแม่ ลูกๆทุกคนก็จะถือโอกาสนี้เตรียมของไปไหว้คุณแม่ ซึ่งที่จะเห็นกันในทุกๆปีก็คือ การเตรียมซื้อดอกมะลิ เพื่อระลึกนึกถึงการเลี้ยงดูของท่านที่อบรมสั่งสอน และเพื่อขออโหสิกรรมสิ่งที่พลาดพลั้งไปโดยไม่ตั้งใจ


วันแม่แห่งชาติ 2566 ทำไม ดอกมะลิ ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ แฟ้มภาพ TNN ช่อง 16

 



 


วันนี้ จึงจะพาทุกคนไปรู้จัก ดอกมะลิ และไขข้อสงสัย ทำไมวันแม่ ต้องดอกมะลิ 


โดยเว็บไซต์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้มีข้อมูลว่า ดอกมะลิ นั้นมีหลากสายพันธุ์ แต่ที่รู้จักกันในนาม “มะลิซ้อน” นั้น ถือเป็นดอกไม้ที่สื่อกับความหมายในวันแม่ได้ด้วยลักษณะต่างๆ ด้วยลักษณะสีขาวของดอก แสดงถึง “รักที่บริสุทธิ์” มะลิซ้อนที่ออกดอกตลอดปี กลิ่นที่หอมแรงและทนทาน สื่อได้ถึง “ความรักที่ยาวนาน ไม่เสื่อมคลาย” และลักษณะกลีบ ที่เรียงซ้อนอัดแน่นโดยปลายกลีบห่อเข้ากลางดอก ก็สื่อถึง “อ้อมแขนของแม่ที่โอบลูกน้อยไว้” จนทำให้ดอกมะลิซ้อนถูกกำหนดให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ ในปี พ.ศ. 2519 


นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี  ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นวันแม่แห่งชาตินั่นเอง

นอกจากลักษณะโดยทั่วไปของดอกมะลิที่สื่อนัยยะถึงความหมายดีดีในวันแม่แล้ว ประโยชน์ก็มีไม่น้อยเป็นที่คุ้นเคยของชาวไทยมาช้านาน มะลิ (Jasminum sambac) นั้น เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่นำเข้าจากต่างประเทศปลูกในประเทศไทยเมื่อต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนิยมใช้ปลูกในกระถางเพื่อบูชาพระ ดอกใช้ร้อยมาลัย เป็นเครื่องสักการะบูชา กลิ่นหอมของดอกใช้อบขนม อีกทั้งดอกสดใช้ลอยน้ำดื่ม 


และด้วยเคมีในพืชของมะลิ ทางการแพทย์พื้นบ้านใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาและบรรเทาโรค เช่น ดอก ใช้เข้ายาหอม แก้หืด บำรุงหัวใจ ใบ ใช้แก้ไข้ ปวดท้อง แก้ฟกช้ำ โรคทางผิวหนัง บำรุงสายตา ราก ใช้แก้ร้อนใน ขับประจำเดือน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น 


วันแม่แห่งชาติ 2566 ทำไม ดอกมะลิ ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ แฟ้มภาพ TNN ช่อง 16

 


แพทย์พื้นบ้านของอินเดียยังใช้ต้นมะลิทั้งต้นผสมกับฝิ่นรักษาโรครำมะนาด สาธารณรัฐประชาชนจีนนิยมใช้ดอกมะลิอบชา (tea) เพื่อให้มีกลิ่นหอม ซึ่งกลิ่นหอมดังกล่าวมาจากองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิด โดยเฉพาะในดอกมะลิสด มีน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Jasmine oil ที่นิยมใช้ประโยชน์ทางด้านการบำบัดด้วยกลิ่นหอม หรือที่เรียกว่าสุวคนธบำบัด ส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้รู้สึกอบอุ่น คลายกังวล ลดอาการซึมเศร้า ปวดศรีษะ จึงมีการต่อยอดใช้แต่งกลิ่นในน้ำหอม และเครื่องสำอางอีกมากมาย

นอกจากมะลิทั่วไป หรือมะลิซ้อนที่เราคุ้นตาและเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แล้ว ยังมีมะลิอีกหลากหลายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมไม่แพ้กัน และมีลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างกันไป เช่น มะลิที่เป็นทั้งดอกและเป็นทั้งผัก อย่างมะลิวัลย์หรือผักแส้ว ชาวบ้านภาคเหนือมักจะเด็ดยอดอ่อนใส่แกง มะลิที่ให้ดอกดก อย่างมะลิหลวง มะลุลี มะลิงาช้าง มะลิที่มีกลิ่นหอมแรง อย่างมะลิไส้ไก่ มะลิภูหลวง มะลิไส้ไก่ก้านแดง มะลิที่เป็นพุ่มสวยงามและใช้เป็นไม้กระถาง เช่น มะลิสยาม มะลิซ้อน มะลิลา และ มะลิที่ไม่ใช่สีขาว แต่เป็นสีเหลือง เช่น มะลิพริมโรส มะลิเหลือง มะลิหอมละไม มะลิชัยชนะ เป็นต้น


วันแม่แห่งชาติ 2566 ทำไม ดอกมะลิ ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ แฟ้มภาพ TNN ช่อง 16

 




ขอบคุณข้อมูลจาก อุทยานหลวงราชพฤกษ์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง