TNN online กรมวิทย์ฯ เตรียมหาอาสาสมัครเคย "ปลูกฝี" ในอดีต ทดสอบวัคซีนโรคฝีดาษลิง

TNN ONLINE

สังคม

กรมวิทย์ฯ เตรียมหาอาสาสมัครเคย "ปลูกฝี" ในอดีต ทดสอบวัคซีนโรคฝีดาษลิง

กรมวิทย์ฯ เตรียมหาอาสาสมัครเคย ปลูกฝี ในอดีต ทดสอบวัคซีนโรคฝีดาษลิง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย เตรียมหาอาสาสมัครที่เคยปลูกฝีในอดีต จากโรคฝีดาษ มาทำการเจาะเลือดเพื่อทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนโรคฝีดาษลิง


วันนี้ (31 ก.ค.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยกับสำนักข่าว TNN ช่อง 16  ว่าเตรียมหาอาสาสมัครที่เคย "ปลูกฝี" โรคฝีดาษในอดีตของประเทศไทยช่วงปี 2520 และ ปี 2522 เพื่อมาเจาะเลือด นำมาทดสอบกับ "วัคซีนโรคฝีดาษ" ซึ่งได้เก็บสำรองไว้เป็นทางเลือก เนื่องจากเป็นวัคซีนรุ่นเก่า รูปแบบการฉีด คือ ต้องปลูกฝี อาจทำให้มีแผลเป็นได้  

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ดำเนินการได้ขอเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยยืนยันโรค "ฝีดาษลิง" ที่พบในไทยเพื่อทำการเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโรคฝีดาษ

ขณะที่ กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการจัดหาวัคซีนโรคฝีดาษ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาวัคซีนในรุ่นที่ 3 ซึ่งไม่ต้องปลูกฝี แต่พบว่าราคาค่อนข้างสูง 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังไม่ได้มีคำแนะนำว่า คนทั่วไปมีความจำเป็นที่จะต้องรับวัคซีนดังกล่าว เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคและความรุนแรงอาจจะยังไม่ถึงข้อกำหนดที่ต้องรับวัคซีนทุกคน รวมถึงความเสี่ยงผลข้างหลังรับวัคซีนด้วย

แต่หากจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ อาจจะพิจารณาในเรื่องของกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเฉพาะก่อน เช่น เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการในการตรวจเชื้อ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ เมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะมีความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นได้

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าพบผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 47 ปี ติดเชื้อจากชายต่างชาติ ก่อนได้รับผลตรวจ PCR ยืนยันโรคฝีดาษวานรวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

และผลตรวจวิเคราะห์พบเป็นสายพันธุ์ Western African B.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในแถบประเทศยุโรป ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคได้ทำการฆ่าเชื้อในบ้านของผู้ป่วยแล้ว 

พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสในบ้าน 2 หลัง รวม 17 คน เพื่อส่งตรวจในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลตรวจออกมาแล้ว 16 คน ผลเป็นลบ และรอผลตรวจอีก 1 คน ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังต่อจนครบ 21 วัน

นพ.โสภณ ระบุว่า "โรคฝีดาษลิง" ที่พบการระบาดในยุโรปส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ซึ่งหากมีการป้องกันที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยง โดยการไม่สัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้ 

ทั้งนี้ "โรคฝีดาษลิง" ไม่ได้ติดต่อง่าย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด หรือ Universal Prevention โดยล้างมือด้วยสบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย และโดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า 

หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานร หากมีอาการป่วยสงสัย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ภาพจากแฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง