TNN online อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร "หมออดุลย์" มีคำตอบพร้อมวิธีแก้

TNN ONLINE

สังคม

อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร "หมออดุลย์" มีคำตอบพร้อมวิธีแก้

อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร หมออดุลย์ มีคำตอบพร้อมวิธีแก้

"หมออดุลย์" ให้ความรู้ "อาการซึมเศร้า" เกิดขึ้นได้เพราะอะไร ชี้เปลี่ยนได้ต้องมีคนช่วยถอดปลั๊ก กินยาอย่างเดียวไม่หาย

วันนี้( 5 ม.ค.65) ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เรื่องโรคซึมเศร้า โดยระบุว่า 

"#ทำไมคนถึงซึมเศร้า

-ธรรมชาติของคน จะถูกโปรแกรมไว้ว่า ต้องมีชีวิตรอด ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ จะวางอยู่บนพื้นฐานนี้ ไม่ว่าเป็นการหาอาหาร พักเหนื่อย หลบภัย รักษาอาการบาดเจ็บ และ สืบพันธุ์ ทั้งหมด จะรับรู้ข้อมูลจากประสาทสัมผัส ถึงผลของการกระทำ เมื่อไหร่การกระทำนั้น ตอบโจทย์การอยู่รอด จะให้สารเคมีที่มีความสุข ถ้าไม่ตอบสนองจะ มีสารเคมีที่แสดงความไม่พอใจ และ เร่งให้หาหนทางใหม่ ให้ได้มาซึ่งสารเคมีที่มีความสุข ซึ่งทั้ง 2 สารเคมี ทำให้ ระบบการส่งต่อข้อมูลในสมองเร็วขึ้น 

แต่สารเคมีที่มีความสุข ทำให้การทำงานของระบบประสาทเร็วขึ้นโดยไม่มีสิ่งเร้าที่มีความเครียด หรือ ความไม่สบายปนมา ขณะที่สารเคมีที่แสดงความไม่พอใจ มีความเครียด ความไม่สบายปนอยู่ด้วย เมื่อสารเคมีทั้ง 2 ออกมา จะตามด้วยการทำงานของระบบประสาทที่เพิ่มขึ้นเกิดความเหนื่อยล้า ดังนั้นจึงต้องมีสารเคมีตัวที่ 3 เข้ามาชลอ การทำงานในสมองให้เกิดความสงบ ความนิ่ง เพราะผลของการกระทำบางทีก็ไม่เห็นผลทันทีจึงไม่ควรกระตุ้น หรือ เร้าตลอดเวลาเพราะเหนื่อยเปล่า 

สมองเราจะทำงาน ไปมา กลับไปกลับมาให้เกิดความสมดุลระหว่างสารเคมีทั้ง 3 ตัว ผลของสารเคมีทั้ง 3 นี้ เมื่อส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท และ ส่งผลให้กระตุ้นสารเคมีอื่นๆในสมองจึงเกิดเป็น “อารมณ์”

-สารเคมีทั้ง 3 Dopamine สารเคมีแห่งความสุข Norepinephrine สารเคมีแสดงความไม่พอใจ และ Serotonin สารเคมีชลอการทำงาน

-สารเคมีต่างๆ ไม่ได้อยู่ๆ ก็ถูกปล่อยออกมา เพราะการมีสารเคมีบางชนิดในเวลาที่ไม่เหมาะสม จะเป็นอันตราย เช่น เวลาเจอภัย ไฟไหม้ ต้องเป็นหน้าที่ของสารเคมีแสดงความไม่พอใจ เพื่อเราจะได้หนีแต่ถ้ามีแต่สาร serotonin เราก็อาจจะโดนไฟคลอก ดังนั้นสมองจึงสร้างวงจรการทำงานขึ้นเป็นเงื่อนไขว่าเจอเหตุการณ์อะไร ควรปล่อยสารเคมีอะไรและวงจรเหล่านี้บางส่วนถูกระบุไว้ใน DNA เช่น วงจรที่ตอบสนองต่อ ความรู้สึกเจ็บ ต่อความหนาวเย็น ต่อเสียงดัง ต่อแสงจ้า แต่ส่วนใหญ่แล้วถูกสร้างขึ้นในภายหลัง จากการเรียนรู้และประสบการณ์ การรับรู้เรื่องราวต่างๆ ซ้ำๆ ซ้ำไปซ้ำมา จะทำให้เราสร้างวงจรการทำงาน การคิด การตอบสนองที่เป็นแบบแผนมากขึ้นเรื่อยๆและหากมากขึ้นไปอีกก็กลายเป็นนิสัย เช่นนิสัยติดหวาน แสดงว่าเมื่อได้รับรสหวานสารเคมีแห่งความสุขจะออกมาฯลฯ 

-พอเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราจะรู้แล้วละว่า เรารับรู้สิ่งต่างๆในชีวิต ที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาตลอดเวลา และ ร่างกายเรา สมองเรา ก็มีปฏิกริยากับ สิ่งที่มากระทบเราตามวงจรการทำงานที่ถูกเขียนไว้ และ ปล่อยสารเคมีออกมา เป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องการหรือไม่ต้องการก็ได้ แต่สารเคมีเหล่านั้นถูกปล่อยออกมา เพราะมีจุดปรสงค์ชัดเจนเพื่อการอยู่รอดตามวงจรการทำงานที่ถูกเขียนไว้จากประสบการณ์

-คราวนี้ อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร เพราะหากวงจรการทำงานที่เราเขียนไว้ สั่งให้มีสารเคมีที่ไม่มีความสุขร่วมกับสารเคมีที่บอกให้ชลอ ออกมาคู่กันก็จะเข้าสู่สภาวะที่ไม่มีความสุข แต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะอีกฝั่งหนึ่งสั่งให้ชลอ แต่อีกด้านหนึ่งก็บอกว่าไม่ชอบไม่มีความสุข เมื่อไม่มีการกระทำที่ไปแก้ไข หรือ พยายามแก้ไข ภาวะไม่มีความสุขนั้น สิ่งกระตุ้นก็ยังอยู่และวนกลับมากระตุ้นซ้ำ อีกเรื่อยๆความรุนแรงของสารเคมีก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับวงจรไฟฟ้า หรือ วงจรคอมพิวเตอร์ ก็เรียกว่าเกิด Loop หรือ การวนกลับมาที่เดิม ในระบบ network คอมพิวเตอร์ ถ้าเกิด Loop ขึ้นระบบจะไม่รับสัญญาณอื่นๆอีกเหมือน “หมายเลขปลายทางที่ท่านเรียก ไม่สามารถติดต่อได้” ประมาณนั้น

-เข้าใจแบบนี้แล้ว การแก้ไขปัญหาซึมเศร้า คือ ต้องถอดปลั๊ก ที่ทำให้เกิด Loop ขึ้น ไม่ให้เกิดการวนซ้ำ พาตัวเอง หรือ พาเพื่อนที่เริ่มซึมเศร้าไปรับรู้สิ่งแวดล้อม สิ่งกระตุ้นใหม่ๆทำไปเรื่อยๆเพื่อไม่ให้เกิด Loop และ ต้อง ค่อยๆเปลี่ยนวงจรการทำงานในสมองให้ไม่แสดงผลลัพธ์ หรือ ชี้ทางกลับไปที่จุดเดิม (ไม่มีใครเปลี่ยนวงจรในสมองเราได้ นอกจากตัวเราเอง) การทำตรงนี้ต้องให้สมองเราเข้าใจ ตรรกะเอง และ ให้เข้าใจธรรมชาติว่า สมอง มีทางเลือกมากมายที่เราสามารถเลือกได้ครับ

-กรณีที่เป็นมาก ถอดปลั๊กไม่ได้ และ สารเคมีในสมองเกิดความไม่สมดุลอย่างมากยาช่วยได้ครับ ยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยได้ครับ แต่วิธีให้หายระยะยาว เจ้าตัวต้อง เข้าใจ เรียนรู้ และสร้างวงจรการทำงานในสมองขึ้นใหม่ไม่ให้วนกลับไปในมุมที่ไม่สบายใจ แต่ชลอไม่ให้ทำอะไร การสร้างวงจรการทำงานใหม่ สมองเราทำได้ครับ การมีสิ่งกระตุ้นและเห็นผลดีของสิ่งกระตุ้น ซ้ำๆจะทำให้สมองได้เรียน และ จดจำ ผลลัพธ์ที่ดีและเลือกทางเดินที่ดีแทนทางเดินเก่าครับ

-ซึมเศร้า เปลี่ยนได้ครับ ต้องมีคนช่วยถอดปลั๊ก และ ส่งสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ เข้ามาให้สมองได้เรียนรู้ครับ กินยาอย่างเดียวไม่หายครับ"





ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง