TNN online ไขข้อสงสัย! อั้นปัสสาวะบ่อยๆ อาจเสี่ยงทำให้เป็น "โรคนิ่ว" ได้จริงหรือไม่

TNN ONLINE

สังคม

ไขข้อสงสัย! อั้นปัสสาวะบ่อยๆ อาจเสี่ยงทำให้เป็น "โรคนิ่ว" ได้จริงหรือไม่

ไขข้อสงสัย! อั้นปัสสาวะบ่อยๆ อาจเสี่ยงทำให้เป็น โรคนิ่ว ได้จริงหรือไม่

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เผยกรณีการอั้นปัสสาวะบ่อยๆ ทำให้เป็นโรคนิ่ว เป็นข้อมูลเท็จ พร้อมเผยข้อมูลจากกรมการแพทย์ พฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคคืออะไรบ้าง

วันนี้ (26ธ.ค.64) ตามที่มีการโพสต์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง อั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ทำให้เป็นโรคนิ่ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการแชร์ข้อมูลสุขภาพที่ระบุว่า คนที่มีพฤติกรรมอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคนิ่วได้นั้น ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงและให้ข้อมูลว่า การอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ นั้นไม่ได้ทำให้เสี่ยงเป็นนิ่วแต่อย่างใด โดยพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงเป็นนิ่วนั้น มีดังนี้ การดื่มน้ำน้อย การที่มีภาวะอ้วน กินเนื้อสัตว์เยอะ กินเค็ม กินวิตามินซีมากกว่า 2000 มก.ต่อวัน กินอาหารที่มีสาร oxalate เยอะในปริมาณมาก เช่น ผักปวยเล้ง บีตรูต ช็อกโกแลต ถั่ว ชา เป็นต้น ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วด้วยเช่นกัน ส่วนแคลเซียมเสริมนั้น ถ้ากินพร้อมอาหารก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

โดยอาการของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของก้อนนิ่ว ระดับการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ การมีภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโรคนิ่วอาจเป็นได้ตั้งแต่ ไม่มีอาการปัสสาวะปนเลือด ปวดบั้นเอว ปัสสาวะสะดุด ปัสสาวะมีเม็ดนิ่วหลุดออกมา หรือถ้ามีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะอาจจะทำให้มีอาการ ปวดร้าวลงบริเวณขาหนีบ อาการปวดบีบ ๆ เป็นพัก ๆ คลื่นไส้ได้ และถ้ามีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วยก็จะทำให้มีอาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นฉุน อั้นปัสสาวะลำบาก เป็นต้น

ในส่วนของการรักษาโรคนิ่วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของนิ่ว ขนาด และตำแหน่งของนิ่วด้วย ซึ่งมีตั้งแต่ การปรับพฤติกรรม การรักษาด้วยยา การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (shock wave) การส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ การส่องกล้องผ่านทางการเจาะผิวหนัง การผ่าตัดส่องกล้องหรือผ่าตัดเปิดเพื่อเอานิ่วออก

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร. 0-2590-6000


ข้อมูลจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง