TNN online เผยผลสำรวจใหม่! ‘ดาวไททัน’ มีกระบวนการทางธรณีคล้าย ‘โลก’

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เผยผลสำรวจใหม่! ‘ดาวไททัน’ มีกระบวนการทางธรณีคล้าย ‘โลก’

เผยผลสำรวจใหม่! ‘ดาวไททัน’ มีกระบวนการทางธรณีคล้าย ‘โลก’

เผยผลสำรวจใหม่! ‘ดาวไททัน’ บริวารดาวเสาร์ มีกระบวนการทางธรณีคล้าย ‘โลก’ เตรียมส่งโดรนดรากอนฟลายสำรวจ

วันนี้ ( 6 ก.ค. 66 )วงการดาราศาสตร์เผย  แผนที่ทางธรณีวิทยาของดาวไททันที่เป็นบริวารดาวเสาร์ฉบับใหม่ แสดงให้เห็นว่าภูมิประเทศบนดาวมีโอกาสที่จะเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นบนโลก   ทำให้นาซาเตรียมส่งโดรนดรากอนฟลาย ไปสำรวจ เพื่อหาข้อมูลบ่งชี้ถึงต้นกำเนิดของสิ่งมีชิวิต เพราะ ไททันเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศคล้ายโลก


ปัจุบัน นักดาราศาสตร์ จากสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) ได้มีการค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ มากถึง 145 ดวง ซึ่งมากที่สุดในระบบสุริยะ  และก็มีดวงจันทร์บริวารประมาณ 3-4 ดวงที่นักดาราศาสตร์จับตา คือ  ดวงจันทร์หรือดาวไททัน ซึ่งเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีขนาดเล็กกว่าโลกครึ่งหนึ่ง  แต่มี ขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ ของโลกราว 50 เปอร์เซ็นต์  แต่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนใครในระบบสุริยะ


ซึ่งยานสำรวจแคสซินี (Cassini)ที่โคจรรอบดาวเสาร์ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2560 ได้ส่งข้อมูลชุดสุดท้ายที่ได้มา ก่อนที่ยานจะยุติการทำหน้าที่ พบว่ามีของเหลวอยู่บนพื้นผิวคล้ายกับโลกของเรา และมีการถ่ายเทตามระดับน้ำทะเลโดยขึ้นอยู่กับแรงโน้มถ่วงเช่นเดียวกับโลกอีกด้วย 


ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ มองว่า  หากดูเผินๆ จะเข้าใจว่ามันแตกต่างจากโลกของเราค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ทะเลสาบที่อุดมไปด้วยก๊าซมีเทน, ภูเขาไฟแช่แข็ง และอุโมงค์ใต้ดินจำนวนมาก แต่แผนที่ทางธรณีวิทยาฉบับใหม่ของดาวไททันแสดงให้เห็นว่า ภูมิประเทศที่น่าประทับใจและมีความหลากหลายเหล่านี้ กลับคล้ายคลึงกับโลกอย่างน่าประหลาดใจ

เผยผลสำรวจใหม่! ‘ดาวไททัน’ มีกระบวนการทางธรณีคล้าย ‘โลก’

ดาวไททันยังคงเป็นดาวดวงเดียวในระบบสุริยะนอกจากโลกที่เรามีข้อมูลว่า มีของเหลวที่เสถียรอยู่บนพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ, แม่น้ำ และทะเล ที่เกิดจากมีเทนเหลวและก๊าซอีเทนที่เป็นฝนตกลงมาจากเมฆในชั้นบรรยากาศ และดาวไททันยังถือเป็นดาวบริวารเพียงดวงเดียวที่ถูกพิจารณาว่าชั้นบรรยากาศมีอากาศหนาแน่นพอที่จะให้คนเราเดินบนพื้นผิวภูมิประเทศได้โดยที่ไม่ต้องสวมชุดอวกาศ หากไม่นับอันตรายที่จะเกิดจากก๊าซมีเทนในสภาพแวดล้อม


แผนที่ทางธรณีวิทยาฉบับใหม่นี้ แสดงให้เห็นทะเลสาบจำนวนมาก, เนินทราย, ปากปล่องภูเขาไฟ และพื้นที่ราบ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นบนโลก


ด้านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซ่า ระบุว่า สภาพแวดล้อมบนดาวไททันที่อุดมไปด้วยชั้นบรรยากาศและแรงโน้มถ่วงต่ำหรือน้อยกว่าโลก 7 เท่า ทำให้ยานสำรวจ “ดรากอนฟลาย” (Dragonfly )ของนาซ่า สามารถเข้าถึงจุดต่างๆ บนพื้นผิวดาวได้ง่ายกว่าอยู่บนโลกมาก  และอาจจะค้นพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิต  โดยยานจะลงจอดที่ทุ่งทะเลทรายแชงกรี-ลาเ ส้นศูนย์สูตร  จากนั้น  ก็จะไปเคลื่อนถึงปากปล่องภูเขาไฟ Selk  นับเป็นยานสำรวจระบบสุริยะลำแรกที่สามารถบินเปลี่ยนตำแหน่งได้โดยใช้ใบพัด


โดรนดรากอนฟลาย หรือโดรนแมลงปอเป็น  โดรนขนาด 3 เมตร  มีใบพัด 8 ใบ ใช้ในการบินย้ายตำแหน่งบนดวงจันทร์ไททัน  มีรายงานว่าจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศภายในปี พ.ศ. 2569 (ค.ศ.2026) และจะเดินทางถึงดวงจันทร์ไททันภายในปี พ.ศ. 2577   นาซามีแผนที่จะขยายข้อมูลการสำรวจดาวไททันให้ชัดเจนขึ้นอีก ทั้งนี้ตัวอย่างต่างๆ ที่ใช้ยานสำรวจ “ดรากอนฟลาย” เก็บมา จะถูกส่งกลับมายังโลก ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญก็คาดหวังว่าจะค้นพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตเพื่อเป็นข้อบ่งชี้แรกว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาเพียงเผ่าพันธุ์เดียวในจักรวาลนี้


ข้อมูลจาก  : NASA - National Aeronautics and Space Administration

ภาพจาก : NASA - National Aeronautics and Space Administration

ข่าวที่เกี่ยวข้อง