TNN online ศาลรธน.ตีตกคำร้อง “เสรีพิศุทธ์” อ้าง "ชวน" ละเมิดสิทธิตั้งนายกฯ

TNN ONLINE

การเมือง

ศาลรธน.ตีตกคำร้อง “เสรีพิศุทธ์” อ้าง "ชวน" ละเมิดสิทธิตั้งนายกฯ

ศาลรธน.ตีตกคำร้อง “เสรีพิศุทธ์” อ้าง ชวน ละเมิดสิทธิตั้งนายกฯ

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง “เสรีพิศุทธ์” อ้าง “ชวน” ละเมิดสิทธิ บรรจุวาระ-ดำเนินกระบวนแต่งตั้ง “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ถูกต้อง ศาลชี้ ประธานรัฐสภาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ม.272 แล้ว

วันนี้ (2 ม.ค.63) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งไม่รับคำร้องของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะผู้ร้อง ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยการกระทำของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

คำร้องระบุว่า นายชวนดำเนินการประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.62 โดยไม่บรรจุวาระการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ ส.ส.รับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 วรรค 2 แต่กลับบรรจุวาระดังกล่าวไว้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 ในวันเดียวกันและดำเนินการประชุมจนเสร็จสิ้น ทำให้ผู้ร้องในฐานะ ส.ส.และ ส.ส.ของพรรคเสรีรวมไทยอีก 9 คน ขาดโอกาสเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะได้อภิปรายคัดค้านและขอให้ประธานสภาฯ วินิจฉัย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่าการประชุมดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรค 2 และมาตรา 272 วรรค 1 อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง และขอให้มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ประธานสภาฯ และประธานรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 โดยพลัน

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่จะยื่นคำร้องได้ต้องเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎว่าในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ประธานรัฐสภาดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ส.เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่ตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรค 2 การปฏิบัติหน้าที่ของประธานรัฐสภาจึงเป็นการดำเนินการตามบทฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 1 และมิได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง จึงไม่อาจยื่นคำร้องได้

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง