TNN online 'ไข้หัดสุนัข' สาเหตุเสือโคร่งของกลาง ตาย 86 ตัว

TNN ONLINE

ภูมิภาค

'ไข้หัดสุนัข' สาเหตุเสือโคร่งของกลาง ตาย 86 ตัว

'ไข้หัดสุนัข' สาเหตุเสือโคร่งของกลาง ตาย 86 ตัว

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แจง เสือโคร่งไซบีเรียที่รับมาจากวัดป่าหลวงตามหาบัว 147 ตัว ทยอยตายไปแล้ว 86 ตัว เหตุเพราะติดเชื้อหัดสุนัขที่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ และเชื่อว่าติดเชื้อมาก่อนที่จะรับมาดูแล ชี้สัตว์อ่อนแอเพราะผสมพันธุ์กันเอง

วันนี้ (17 ก.ย.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย ซึ่งเป็นของกลางที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จังหวัดราชบุรี ทยอยป่วยตายรวม 86 ตัว ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2559 

โดยเมื่อวานนี้ นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดี กรมอุทยานฯ แถลงถึงเรื่องดังกล่าวว่า เสือโคร่งส่วนใหญ่มีภาวะเครียดเนื่องจากการขนย้ายและเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ มีอาการหายใจเสียงดังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้า-ออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร ชักเกร็ง และตายในที่สุด

'ไข้หัดสุนัข' สาเหตุเสือโคร่งของกลาง ตาย 86 ตัว

จากการตรวจสอบเสือที่ตายพบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัข และสัตว์ป่าหลายชนิด รวมทั้งเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี ยารักษาเป็นการเฉพาะ ทำได้เพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ ลดอาการอักเสบ ลดไข้ รักษาอาการภูมิแพ้ บางตัวที่มีอาการหายใจเสียงดังมาก สัตวแพทย์จะผ่าตัด แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดอาการของโรคที่แน่ชัด

โดยจากการส่งซากเสือโคร่งไปตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสัตวแพทย์จากซาฟารีเวิลด์ พบว่าเกิดจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงและเป็นสาเหตุของการตาย แต่ทั้ง 2 สถานีเพาะเลี้ยงอยู่ห่างกัน แสดงว่าเสือมีการติดเชื้อมาก่อน ทั้งนี้ เสือดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ไซบีเรียแตกต่างจากเสือในประเทศไทยที่เป็นสายพันธุ์อินโด-ไชนีส จึงไม่สามารถปล่อยสู่ธรรมชาติได้

'ไข้หัดสุนัข' สาเหตุเสือโคร่งของกลาง ตาย 86 ตัว

ขณะที่ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ด้านมาตรการดูแลสุขภาพเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 2 แห่ง ได้ประสานกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บอุจจาระและตัวอย่างเลือดตรวจสอบ ติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ เมื่อทราบผลจะพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดสุนัขตามขั้นตอน และมีการติดตามผลเป็นระยะ ส่วนเสือที่มีอาการป่วยหนักอาจพิจารณาผ่าตัดเป็นรายกรณี

นอกจากนี้ จะควบคุมให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัยภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 2 แห่งอย่างเข้มงวด พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมาในระหว่างการตรวจยึด พบว่าเสือวัดหลวงตามหาบัวมีการตายอยู่แล้วจากภาวะเลือดชิด โดยพบเสือลูกกรอกที่ดองไว้ และหนังเสือจำนวนมาก เสือเดิมที่อยู่ในสถานีไม่มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น แต่เสือจากวัดทั้ง 2 สถานีมีอาการเหมือนกัน ทั้งที่สถานีอยู่ห่างกัน ดังนั้นปัญหาพันธุกรรมจึงเป็นสาเหตุสำคัญ

'ไข้หัดสุนัข' สาเหตุเสือโคร่งของกลาง ตาย 86 ตัว

นอกจากนี้ นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายปกครอง นายอำเภอจอมบึง, ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี, เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจอมบึง ทีมสัตว์แพทย์อำเภอจอมบึง เข้าตรวจสอบเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัว ที่ป่วยและทยอยล้มตาย ยืนยันเสือทุกตัวที่ล้มตาย เกิดจากโรคเดียวกัน ส่วนซากเสือทั้งหมดเจ้าหน้าที่แยกชิ้นส่วนใส่บรรจุไว้ในถัง และแช่น้ำยาฟอร์มาลีน ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นนำไปฝังไว้ในดินมีความลึก 3 เมตร 

ด้าน พระวิสุทธิสารเถร หรือ เจ้าคุณหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตามหาบัว จังหวัดกาญจนบุรี ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบซากเสือว่ามีการแอบนำไปขายหรือไม่ รวมถึงเขี้ยวเสือ ที่เป็นที่ต้องการในตลาดนักสะสมเครื่องรางของขลัง และตัดพ้อหากเสือของกลางยังอยู่ที่วัดน่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีและวัดเจริญมากขึ้น 

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ รับเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตามหาบัว รวมทั้งสิ้น 147 ตัว แยกเป็นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง รับเสือโคร่งไว้ 85 ตัว ตายไป 54 ตัว คงเหลือ 31 ตัว ส่วนที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี รับเสือโคร่ง 62 ตัว ตายไป 32 ตัว คงเหลือ 30 ตัว 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง