TNN online 7 สัญญาณเตือน คุณอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

TNN ONLINE

Health

7 สัญญาณเตือน คุณอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

7 สัญญาณเตือน คุณอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

"โรคกรดไหลย้อน" ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่าสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เกิดได้หลายอย่าง ไม่ได้มีแค่การกินอาหารแล้วนอนทันที

"โรคกรดไหลย้อน" ภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกว่า "Gastroesophageal Reflux Disease : GERD" เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่รบกวนต่อการชีวิตประจำวัน และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร

หลายคนคงเข้าใจว่า "โรคกรดไหลย้อน" เกิดจากการกินอาหารแล้วนอนทันที ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ แต่ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เนื่องจากโรคกรดไหลย้อน ยังสามารถเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเองด้วย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย...


โรคกรดไหลย้อน เกิดจากอะไร


- หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร

- ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร

- ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ

- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

- พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานเสร็จแล้วนอนทันที การรับประทานของมันๆ มากเกินไป

- ภาวะความเครียด โดยผู้ที่มีความเครียดมักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที

- ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น


โรคกรดไหลย้อน มีสาเหตุจากอะไร


- รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานแล้วนอนทันที

- ชอบรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นประจำ

- ดื่มสุรา น้ำอัดลม

- สูบบุหรี่

- ผู้หญิงตั้งครรภ์

- มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน

- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

- ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง

- รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า เป็นต้น


7 สัญญาณเตือน คุณอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม Image by Freepik


7 อาการของโรคกรดไหลย้อน


เมื่อรู้สึกปวดท้อง แสบท้อง จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการต่างๆ เหล่านี้ เป็นสัญญาณเตือนของโรคกรดไหลย้อน 


1. แสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก

2. มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก

3. ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย

4. คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร

5. เจ็บหน้าอก จุก คล้ายเหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ

6. หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ

7. เจ็บคอเรื้อรัง


นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนบางราย อาจมีอาการแสดงอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป เช่น อาการเจ็บหน้าอก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจซักประวัติและวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ 

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร การตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร


วิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อน


แพทย์จะรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนด้วยการให้ยาเคลือบและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยยากลุ่มนี้จะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือ มีอาการแสบหน้าอกเป็นครั้งคราว 

นอกจากนี้ อาจจะให้ยาลดการหลั่งกรด ยาในกลุ่มนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดของยา และระยะเวลาในการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วนยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร อาจได้ผลในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องอืดแน่นท้องร่วมด้วย

ในปัจจุบันการรักษาด้วยยามักให้ผลการรักษาที่ดี แต่ต้องรับประทานยาเป็นเวลานานกว่า การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารทั่วไป และเมื่อหยุดยาผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการกลับขึ้นมาใหม่ การผ่าตัดรักษาในปัจจุบัน จึงอาศัยการผ่าตัดผ่านกล้องทำให้ลดอาการเจ็บจากการผ่าตัดได้ดีขึ้น และได้ผลการผ่าตัดที่ดี


7 สัญญาณเตือน คุณอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม Image by jcomp on Freepik


วิธีป้องกันโรคกรดไหลย้อน ต้องปรับพฤติกรรม!


แพทย์แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาและป้องกันโรคนี้ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต รักษาที่ต้นเหตุ ดังนี้

- รับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง

- ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร

- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา

- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้

- รับประทานอาหารมื้อเย็น ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

- ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปมากเกินไป


ขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลศิครินทร์

RAMA Channel


ภาพปกโดย Lifestylememory on Freepik

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง