TNN online "โรคกรดไหลย้อน" ไม่ควรกินอาหาร 3 ประเภท เสี่ยงอาการกำเริบ

TNN ONLINE

Health

"โรคกรดไหลย้อน" ไม่ควรกินอาหาร 3 ประเภท เสี่ยงอาการกำเริบ

โรคกรดไหลย้อน ไม่ควรกินอาหาร 3 ประเภท เสี่ยงอาการกำเริบ

"โรคกรดไหลย้อน" ใครเป็นสุดทรมาน ทั้งปวดท้อง แสบท้อง จนนอนแทบไม่ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า เพื่อไม่ให้อาการกำเริบ คนเป็น "โรคกรดไหลย้อน" ไม่ควรกินอาหารอะไรบ้าง?

"โรคกรดไหลย้อน" ใครที่เคยเป็นจะพบว่าร่างกายจะรู้สึกทรมาน แสบร้อนที่ท้อง เนื่องจากเป็นเพราะว่าน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการ แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ อาการนี้จะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก และการนอนหงาย 

ขณะที่ ในผู้ป่วยบางรายก็มีอาการมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก หรือท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ อาการหืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียงทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง

สำหรับสาเหตุของโรคนี้ เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ หย่อนยาน หรืออาจเสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถกั้นน้ำย่อย กรดหรืออาหารต่าง ๆ ในกระเพาะไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอก หรือแน่นหน้าอกได้ บางคนอาจรู้สึกจุกบริเวณคอ นอนราบไม่ได้ รวมถึงมีอาการเปรี้ยวและขมที่คอร่วมได้

โรคกรดไหลย้อน ไม่ควรกินอาหาร 3 ประเภท เสี่ยงอาการกำเริบ Image by jcomp on Freepik


รู้หรือไม่? กินบุฟเฟ่ต์เสี่ยงเกิดโรคกรดไหลย้อน


การรับประทานอาหารที่มากเกินไป เช่น การกินบุฟเฟ่ต์ ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะกินในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า ทำให้กระเพาะขยายตัวมากขึ้น จนเกิดแรงดันสูง จึงมีแนวโน้มที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้


โรคกรดไหลย้อน ไม่ควรกินอาหาร 3 ประเภท เสี่ยงอาการกำเริบ


เป็นกรดไหลย้อน ไม่ควรกินอะไร


อาหาร 3 ประเภท ที่คนเป็น "โรคกรดไหลย้อน" ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรกินในปริมาณมาก ๆ มี 3 ชนิดด้วยกัน


1. อาหารที่มีไขมันสูง 

ไม่ว่าจะเป็นของทอดของมันต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารที่มีไขมัน เช่น นม เนย ชีส คุกกี้ เป็นต้น เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะใช้เวลาย่อยในกระเพาะนาน เมื่ออยู่ในกระเพาะนาน จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดกรดมากขึ้น และไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้

2. อาหารที่ทำให้เกิดกรดและแก๊สในกระเพาะ

- อาหารประเภทของหมักดอง เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ ซูชิบางชนิดที่มีผักดอง ล้วนมีส่วนเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดอาการจุดเสียดแน่นท้องได้

- อาหารรสเค็มจัด เปรี้ยวจัด เช่น น้ำส้มสายชู เป็นเครื่องปรุงรสที่มีกรดมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนไม่ควรเติมน้ำส้มสายชูลงในอาหาร เพราะจะเป็นการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นไปอีก

- ผลไม้ที่มีกรดมาก เช่น ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัด รวมไปถึงซอสมะเขือเทศก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน

- ผักที่มีกรดแก๊สมาก เช่น หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม พริก พริกไทย หอมแดง เปปเปอร์มินต์ หรือสะระแหน่ รวมทั้งผักดิบทุกชนิดก็ควรเลี่ยง เพราะผักเหล่านี้จะไปเพิ่มกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก

- อาหารที่ทำจากถั่ว เพราะอาหารกลุ่มนี้จะไปเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร อาจส่งผลให้หูรูดมีช่องว่างเปิดออกมา ทำให้น้ำย่อยหรือกรดไหลย้อนขึ้นมา

3. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง 

เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะไปกระตุ้นให้กรดหลั่งมากขึ้น ทำให้หูรูดปิดตัวผิดปกติได้


โรคกรดไหลย้อน ไม่ควรกินอาหาร 3 ประเภท เสี่ยงอาการกำเริบ


ทางการแพทย์ จึงแนะนำวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มจากการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อแบ่งเบาการทำงานของกระเพาะอาหาร รวมถึงเลี่ยงอาหารมื้อหนัก เพื่อไม่ให้กระเพาะทำงานหนักจนเกินไป 

นอกจากนั้นหลังมื้ออาหารควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้อาหารได้เคลื่อนตัวจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เพื่อดูดซึมต่อไป.


ขอบคุณข้อมูลจาก

RAMA Channel


ภาพปกโดย Getty Image

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง