TNN online ใคร"เครียด"ต้องอ่าน! หากมีอาการติดต่อกัน 5 วันเสี่ยงเกิดเซลล์มะเร็งจริงหรือ

TNN ONLINE

Health

ใคร"เครียด"ต้องอ่าน! หากมีอาการติดต่อกัน 5 วันเสี่ยงเกิดเซลล์มะเร็งจริงหรือ

ใครเครียดต้องอ่าน! หากมีอาการติดต่อกัน 5 วันเสี่ยงเกิดเซลล์มะเร็งจริงหรือ

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไขข้อสงสัย หากมีความเครียดติดต่อกัน 5 วัน เซลล์ในร่างกายจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ทันที จริงหรือ

ตามที่มีการบอกต่อข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพประเด็นเรื่องหากมีความเครียดติดต่อกัน 5 วัน เซลล์ในร่างกายจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ทันที ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ


จากกรณีที่มีผู้โพสต์ระบุว่าหากมีความเครียดติดต่อกัน 5 วัน เซลล์ในร่างกายจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ทันที ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าความเครียด คือ การตอบสนองของร่างกายต่อสภาวะกดดันทางกาย จิตใจ และอารมณ์ เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนเพื่อตอบสนองต่อความเครียดนั้น ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นพบว่าความเครียดอาจเกี่ยวข้องกับการขยายขนาดและแพร่กระจายของมะเร็งในผู้ป่วยโรคมะเร็ง


อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการมีความเครียดน้อย ๆ ในช่วงสั้น ๆ จะทำให้ร่างกายตื่นตัว ส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ในทางกลับกันหากความเครียด

นั้นกินระยะเวลายาวนานจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ และอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลว่าหากมีความเครียดติดต่อกัน 5 วัน เซลล์ในร่างกายจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ทันทีนั้น พบว่ายังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันแน่ชัด และหากความเครียดส่งผลกระทบหลายด้าน จึงควรหาวิธีผ่อนคลายจากภาวะเครียด เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมที่ชอบ นั่งสมาธิ เป็นต้น


ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันแน่ชัด แต่ความเครียดอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น


ประเภทของความเครียดแบ่งเป็น 2 แบบตามระยะเวลา คือ

1. ความเครียดระยะสั้นหรือฉับพลัน เช่น ทะเลาะกับเพื่อน คนใกล้ชิดเสียชีวิตสอบตก การหย่าร้อง

2. ความเครียดเรื้อรังและสะสม เมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้เครียดอยู่ซ้ำๆ เช่น การเรียน หรือทำงานที่มีความกดดันสูง ปัญหาการเงิน


ความเครียดส่งผลต่อร่างกายและสมองอย่างไร

เกิดการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกและกระตุ้นการหลั่งคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) จากต่อมหมวกไต ให้อวัยวะต่างๆ ตื่นตัว เพื่อเตรียมร่างกายเข้าสู่ภาวะพร้อมสู้หรือหนี

คือ ใจเต้นรัว ความดันเลือดสูง หลอดเลือดหดตัว หายใจถี่และสั้น ซึ่งถือเป็นอาการผิดปกติของร่างกาย หากอยู่ในภาวะเครียดนานๆ ร่างกายและจิตใจจะได้รับผลกระทบจากอาการผิดปกติเหล่านี้

ความเครียดที่กระทบกระเทือนอารมณ์รุนแรงส่งผลทำให้สมองฝ่อได้ โดยเฉพาะสมองส่วนอะมิกดาลา (อารมณ์ดิบ) และไฮโพทาลามัส (ศูนย์รวมสัญชาตญาณ) เกิดเป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจรุนแรง

ความเครียดส่งผลกระทบต่อสมดุลการทำงานของสมอง ดังนี้

-ระบบประสาทอัตโนมัติ คือระบบซิมพาเทติก และพาราซิมพาเทติก

-ฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) จากต่อมหมวกไต

-สารสื่อประสาททั้งสี่แห่งความสุข-สงบ คือ โดพามีน ออกซิโทซิน ซีโรโทนิน เอ็นดอร์ฟิน

วิธีรับมือหรือจัดการความเครียด อาทิ การอออกกำลังกาย ฝึกหายใจ หัวเราะบ้างซึ่งช่วยลดความเครียด




ที่มา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม / กรมสุขภาพจิต

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง