TNN online อาการซึมเศร้า ความเครียดสะสม กระทบสุขภาพจิตต้องทำอย่างไร เมื่อไรควรไปพบจิตแพทย์

TNN ONLINE

Health

อาการซึมเศร้า ความเครียดสะสม กระทบสุขภาพจิตต้องทำอย่างไร เมื่อไรควรไปพบจิตแพทย์

อาการซึมเศร้า ความเครียดสะสม กระทบสุขภาพจิตต้องทำอย่างไร เมื่อไรควรไปพบจิตแพทย์

เรื่องราวการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีเดิมอย่างมาก อีกทั้งเมื่อถูกกระหน่ำซ้ำด้วยวิกฤตโควิด-19 ระบาด เสริมด้วยความเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้กระทบสุขภาพจิต และเปลี่ยนแปลงเราไปจากโลกเดิมๆที่เคยใช้ชีวิตกันมา

บางช่วงเวลาในชีวิตก็ยังมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้ต้องเจอปฏิกิริยาทางจิตใจและสุขภาพจิต บางครั้งเราอาจจะคิดวนเวียน สับสน ตั้งรับไม่ถูก รู้สึกโกรธ โทษคนอื่น ปฏิเสธไม่ยอมรับ ซึมเศร้า บางคนปรับตัวได้ก็จะก้าวข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ แต่บางคนก็อาจจะจมอยู่กับสิ่งเหล่านี้ 


บางคนก็จะมีคำถามกับตัวเองว่า “อาการแบบนี้ ฉันต้องไปพบจิตแพทย์หรือยัง” แต่พอเราเริ่มถามคนรอบข้าง บางคนก็จะออกอาการตกใจว่า “เธอยังไม่บ้านะ จะไปทำไม” หรือบางคนก็คุยกับตัวเองว่า “นี่ฉันบ้าไปแล้วหรือนี่ ถึงจะต้องไปพบจิตแพทย์” ....คำถามแบบนี้ อย่าไปกังวลเยอะ 


ข้อมูลจาก กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต บอกว่า คนเราทุกคนย่อมมีโอกาสพบกับเหตุการณ์รุนแรงที่มากระทบทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นอาจเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ผลกระทบจิตใจจะคงอยู่หรือหายไปอย่างรวดเร็วขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางใจของแต่ละคน 



มาเริ่มสังเกตตัวเองกัน 


ลองสำรวจและสังเกตตัวเองว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า ???


  • ทุกวันนี้ชีวิตฉันเลวร้ายไปหมด
  • เมื่อไม่สบายใจ ฉันไม่มีใครให้ปรับทุกข์ด้วย
  • ทุกวันนี้ฉันรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจที่จะใช้ชีวิตในสถานการณ์นี้
  • เมื่อมีปัญหาวิกฤติเกิดขึ้น ฉันรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถ
  • ทุกวันนี้ฉันหมดหนทางที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้ 


ทีนี้…หากพบว่า คำตอบของตัวเองตรงกับข้อใดข้อหนึ่ง คุณควรจะ…


  • บอกตัวเองว่าความทุกข์จะผ่านไป ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด
  • คิดถึงคนที่เรารักและห่วงใยเรา คิดถึงความสำเร็จ ความภูมิใจที่ผ่านมา
  • ผูกมิตรและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามที่เกิดปัญหาจะได้ช่วยเหลือกันได้
  • ฝึกสร้างกำลังใจให้ตัวเองสู้
  • เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ จากคนอื่นเพื่อนำมาใช้เมื่อเกิดปัญหากับตนเอง 


ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงรอบตัว

 

เมื่อเราสังเกตเห็นว่า คนรอบข้างหรือตนเองเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ ก็ควรมาพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการและรักษา โดยขอแบ่งสัญญานเตือนออกเป็น 3 ด้าน เพื่อให้เข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างง่ายๆ ดังนี้


1. สัญญาณเตือนด้านอารมณ์

 

  • มีความกังวลทุกข์ใจ ซึมเศร้า ตลอดเวลา ไม่หายไป

  • หวาดระแวงในทุกๆ เรื่อง มีอารมณ์หงุดหงิดมากผิดปกติ

  • รู้สึกเครียดตลอดเวลามีความกระวนกระวายใจ และอยู่ไม่นิ่ง

 

2. สัญญาณเตือนด้านความคิด มักพบว่าเนื้อหาความคิด ผิดไปจากปกติ

 

  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ และหลงลืมมากกว่าผิดปกติ

  • การตัดสินใจหรือการแก้ไขปัญหาไม่ได้ ในทุกๆ เรื่องแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

  • ได้ยินเสียงแว่วหรือเห็นภาพที่ผู้อื่นไม่เห็นมีความคิดทำร้ายตนเอง และความคิดว่ามีคนมาปองร้าย 

  • มีการใช้คำพูดหรือคิดหมกมุ่นในเรื่องอดีต มีความคิดที่เร็ว คิดหลายเรื่อง คิดฟุ้งซ่าน

 

3. สัญญาณเตือนด้านพฤติกรรม หรือร่างกาย

 

  • ไม่สนใจดูแลตนเองเหมือนเมื่อก่อน ปล่อยตัวไม่สนใจสิ่งแวดล้อม แยกตัวไม่พบปะผู้คนเหมือนเคย

  • นอนไม่หลับหรืออาจนอนมากเกินปกติ

  • เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากเกินปกติ

  • ใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย ใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิด

  • ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มาก


และเมื่อเรารู้สึกว่าตนเองหรือคนรอบข้างเปลี่ยนไป ในด้านใดด้านหนึ่งดังที่กล่าวมา ก็ควรมาพบจิตแพทย์ เพื่อได้รับการดูแลจิตใจให้แข็งแรง เมื่อจิตใจดีแล้ว ร่างกายก็ดีตามมาด้วย อย่าลืมดูแลจิตใจทั้งคนรอบข้างและตนเองให้เข้มแข็งกัน



เริ่มต้นไปพบจิตแพทย์ต้องทำอย่างไร 


เมื่อสำรวจอาการของตัวเองแล้ว พบความผิดปกติตามที่กล่าวมา หรือ เอาแค่ว่ารู้สึกว่าความคิด อารมณ์ของตัวเองแปรเปลี่ยนไป และควบคุมไม่ได้ ก็ไปเถอะ...โดยมาเริ่มต้นด้วย


ตรวจสอบสิทธิการรักษาของตนเอง

สำรวจสิทธิของตัวเองว่า มีสิทธิการรักษาประเภทไหน อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิสปสช.) หรืออยู่ในบัตรประกันสังคม เพื่อจะไปให้ตรงกับสถานพยาบาลตามระบบ 



มาพบจิตแพทย์แล้วจิตแพทย์ทำอย่างไร ?

การพบจิตแพทย์ จะมีการถามประวัติความไม่สบายที่ต้องมาพบแพทย์และมีการตรวจสภาพจิต และอาจตรวจร่างกายด้วยถ้าแพทย์คิดว่ามีอะไรที่จะต้องตรวจดู แพทย์จะถามประวัติเกี่ยวกับอาการทางร่างกายที่เกิดขึ้น ประวัติเกี่ยวกับอาการทางจิตใจ นอกจากนี้แพทย์จะถามถึงความเป็นอยู่ เช่น เป็นใคร ท าอาชีพอะไร บ้านอยู่ไหน แต่งงานแต่งการหรือยัง มีลูกกี่คน ถามถึงว่าช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่ดี และที่ไม่ดี เป็นต้น


ในการตรวจสภาพจิต จิตแพทย์จะดูตั้งแต่ท่าทาง การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดจา เพราะแค่นี้ก็พอบอกอะไรได้ตั้งหลายอย่างแล้ว และเมื่อได้ข้องมูลมากพอจิตแพทย์จะเริ่มให้การรักษา



แล้วผู้ป่วยต้องทำอย่างไรบ้าง ?

เมื่อไปพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยจะต้องเล่าปัญหาให้แพทย์ฟังให้ตรงตามความรู้สึกมากที่สุด ทั้งอาการไม่สบายที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้เราเครียด ชีวิตส่วนตัวทั้งในปัจจุบันและในอดีต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แพทย์จะค่อย ๆ ถามให้ผู้ป่วยเล่าออกมาได้เองโดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้อง "ท่องมา" หรือ "เรียบเรียง" เอาไว้ก่อน ผู้ป่วยเพียงแต่เล่าตามที่แพทย์ถามเท่าที่จะเล่าได้ เรื่องที่ลำบากใจยังไม่อยากเล่าก็เก็บไว้ก่อน เอาไว้พร้อมที่จะเล่าแล้วค่อยเล่าก็ได้



ไปพบจิตแพทย์แล้วจะต้องกินยาใช่หรือไม่ ?

การรักษาทางจิตเวชนั้นมีทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาทางจิตวิทยา (ให้คำปรึกษา จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด ฯลฯ) โรคบางโรคเรารักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยาเป็นหลัก แต่ในบางโรคต้องรักษาด้วย ยาเป็นหลัก และบางโรครักษาด้วยทั้ง 2 วิธีร่วมกันก็เป็นได้


สุดท้าย ถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือ รับคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถโทรหาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือจะ ตรวจเช็คสุขภาพใจ ด้วยตัวเองได้ที่นี่ คลิกเลย



อ้างอิง

- โรงพยาบาลท่าตูม กระทรวงสาธารณสุข

- วินิตรา แก้วสง่า, สัญญานเตือนที่ต้องมาพบจิตแพทย์, โรงพยาบาลมนารมย์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง