TNN “ดร.เสรี” เตือนวิกฤตอากาศรุนแรง เทียบความเหมือนและแตกต่าง “น้ำท่วมดูไบ” กับ “น้ำท่วมกทม.ปี 54”

TNN

Earth

“ดร.เสรี” เตือนวิกฤตอากาศรุนแรง เทียบความเหมือนและแตกต่าง “น้ำท่วมดูไบ” กับ “น้ำท่วมกทม.ปี 54”

“ดร.เสรี” เตือนวิกฤตอากาศรุนแรง เทียบความเหมือนและแตกต่าง “น้ำท่วมดูไบ” กับ “น้ำท่วมกทม.ปี 54”

“ดร.เสรี” เผยความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง “น้ำท่วมดูไบ” กับ “น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี54”

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต, ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โพสต์ข้อความ ผ่านทางเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับความเหมือนที่แตกต่างระหว่างน้ำท่วมสนามบินดูไบกับสนามบินดอนเมือง


โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักที่ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ (UAE) ในรอบ 75 ปี กล่าวคือ ปริมาณฝนตก 1 วัน (254 mm) เทียบเท่าปริมาณฝน 1.5 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คนทั้งใน UAE (1 คน) และ โอมาน (19 คน) ถนนหนทาง สนามบินได้รับผลกระทบรุนแรง การเกิดฝนตกหนักในปริมาณดังกล่าว แทบเป็นไปไม่ได้เลยบนภูมิภาคแห่งนี้ที่เป็นทะเลทราย โดยปกติปริมาณฝนรายปีเฉลี่ยเพียง 56 mm และปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2546 อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงแนวโน้มพฤติกรรมฝนตกหนักรายสัปดาห์ที่จะทำให้น้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ในขณะที่สนามบินดอนเมืองที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 เกิดจากพฤติกรรมฝนตกหนักต่อเนื่องในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนตั้งแต่เริ่มเข้าฤดูฝน ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ (เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์) มีปริมาณน้ำเต็มเขื่อน จำเป็นต้องระบายน้ำที่เกินความจุของลำน้ำ ปริมาณน้ำกว่า 30,000 ล้าน ลบ.เมตร (เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน) ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ เกิดน้ำไหลหลากล้นคันกั้นน้ำ (คันแตกหลายจุด) น้ำท่วมแผ่วงกว้างไหลลงมาลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง สร้างความเสียหายหลายพื้นที่รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมฯ จนถึงพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ และจตุจักร 


พฤติกรรมน้ำท่วมจึงมีทั้งความเหมือน (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่) และแตกต่างกัน (น้ำท่วมแบบฉับพลันจากปริมาณฝนตกหนักในเวลาสั้นที่ UAE และน้ำท่วมล้นฝั่งจากปริมาณฝนตกหนักรายฤดูกาลลุ่มเจ้าพระยาตอนบน) นอกจากนี้ ผมได้ประเมินเหตุการณ์น้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยา พร้อมแผนงานต่างๆในอนาคต พบว่า ความถี่ และความรุนแรงจะมากขึ้น กล่าวคือขนาดน้ำท่วม 70 ปี (2554) จะเป็น 10 ปี ในอนาคต และปริมาณฝนสะสมจะเพิ่มขึ้นจากกว่า 1,400 เป็นกว่า 1,500 mm (หากปริมาณฝนสะสม 6 เดือนเกิน 1,200 mm จะเริ่มเกิดน้ำท่วมใหญ่) ดังนั้น เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์น้ำท่วมได้ แต่เราสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการปรับปรุงแผนงานด้านการปรับตัวของทุกภาคส่วน 


ที่มา: เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์, www.futuretaleslab.com

_____

#TNNEARTH #ภาวะโลกเดือด #เอลนีโญ #ภาวะโลกร้อน #คลื่นความร้อน #คลื่นความร้อนประเทศไทย #ภัยแล้ง #ฝนน้อย #โลกร้อน #น้ำท่วมดูไบ #น้ำท่วมหนัก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง