TNN online สทนช.คาด "เอลนีโญ" ทำไทยแล้ง 2 ปี น่าห่วง! ต้นทุนน้ำภาคกลางเหลือ 17%

TNN ONLINE

Earth

สทนช.คาด "เอลนีโญ" ทำไทยแล้ง 2 ปี น่าห่วง! ต้นทุนน้ำภาคกลางเหลือ 17%

สทนช.คาด เอลนีโญ ทำไทยแล้ง 2 ปี  น่าห่วง! ต้นทุนน้ำภาคกลางเหลือ 17%

สทนช.คาด “เอลนีโญ” ส่งผลกระทบทำไทยแล้งนาน 2 ปี ห่วงภาคกลางต้นทุนน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ​ 17​ เท่านั้น

วันนี้ ( 4 ก.ค. 66 )นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศุนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการรับมือกับภาวะภัยแล้งน้ำท่วม โดยวิเคราะห์ว่า ปีนี้ ไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ สิ่งที่เป็นกังงวลคือเรื่องของภัยแล้ง เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปริมาณฝนตกทั่วประเทศเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ คือ ร้อยละ 25 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างลงมาลุ่มเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่กลุ่มฝนจะไปตกทางภาคใต้และลุ่มแม่น้ำมูลของภาคอีสาน การบริหารจัดการน้ำจึงต้องประหยัดและทำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้ได้มากที่สุด 


ปัจจุบันแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำอยู่ร้อยละ 29 หรือ 1 หมื่น 5 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรปล่อยน้ำให้ประชาชนใช้ไปแล้วร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสิ่งที่ศุนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นกังวล คือการทำเกษตร เพราะหากประชาชนยังเพาะปลูกต่อเนื่องโอกาสภัยแล้งมีโอกาสจะกระทบไปถึงปีหน้า  นอกจากบริหารจัดการการใช้น้ำแล้ว ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธณี  เพื่อวางแนวทางร่วมกัน คือ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ปรับแผนขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีแหล่งน้ำบาดาลสำรองสำหรับใช้อุปโภคบริโภค 200 แห่ง แหล่งน้ำบาดาลเพื่อทำเกษตรขนาดใหญ่ 200 แห่ง และยังมีแหล่งน้ำบาดาลที่ยังใช้งานไม่ได้จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงอีก 1 พันกว่าแห่ง 


ส่วนพื้นที่รับน้ำแก้มลิง มีทุ่งบางระกำและทุ่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ปัจจุบันยังจัดสรรน้ำให้ประชาชนในการเพาะปลูกอยู่เพื่อพร่องน้ำไว้รับมือกับน้ำหลากน้ำท่วมหากฝนตก คาดว่าการทำเกษตรของประชาชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 


ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติเน้นย้ำว่าผลกระทบจากเอลนีโญ่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้งไปอีก 2 ปี ทุกหน่วยงานจึงต้องมีความพร้อมรับมือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะพยายามไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด หากพื้นที่ไหนเช่นนอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอก็จะจัดหาน้ำเข้่ไปช่วย ทั้งนี้มีความกังวลในพื้นที่ภาคกลางมากสุด โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ แควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในปริมาณมาก โดยปัจจุบันภาคกลางเหลือน้ำต้นทุนอยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น


ภาพจาก : AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง