TNN online เปิดกลไกสำคัญ! ติดโควิดเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน-ไม่ควรติดเชื้อซ้ำ

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

เปิดกลไกสำคัญ! ติดโควิดเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน-ไม่ควรติดเชื้อซ้ำ

เปิดกลไกสำคัญ! ติดโควิดเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน-ไม่ควรติดเชื้อซ้ำ

"หมอธีระ" เปิดกลไกที่สำคัญติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ย้ำควรระมัดระวัง ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

เปิดกลไกที่สำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานหลังจากที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ควรระมัดระวัง ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า 13 พฤศจิกายน 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 206,768 คน ตายเพิ่ม 431 คน รวมแล้วติดไป 640,090,911 คน เสียชีวิตรวม 6,614,897 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ชิลี และอินโดนีเซีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.02 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 87.47

...อัพเดตโควิด-19 และกลไกเบาหวาน

ดังที่ทราบกันมาก่อนหน้านี้จากงานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลกว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

Groß R และคณะ จากเยอรมัน ได้อัพเดตความรู้เกี่ยวกับกลไกที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานหลังจากที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19

กลไกที่สำคัญได้แก่

หนึ่ง ไวรัสติดเชื้อโดยตรงไปที่เบต้าเซลล์ในตับอ่อน ทำให้เกิดการทำลายเบต้าเซลล์ จนสูญเสียความสามารถในการสร้างอินซูลินและส่งผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อรวมถึงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามมา

สอง การติดเชื้อไปที่เซลล์ไขมัน (adipocytes) ส่งผลให้เกิดการลดการหลั่ง adiponectin และทำให้เกิดการดื้อต่ออินซูลิน (reduce insulin sensitivity)

สาม การติดเชื้อที่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเซลล์ตับ ทำให้เกิดการหลั่ง glucogenic GP73 มากขึ้น มีการกระตุ้นการผลิตน้ำตาลในร่างกายมากขึ้น (glucogenesis)

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง ติดตามผลกระทบจากการที่มีการติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากทั่วโลก อันอาจส่งผลให้เกิดสึนามิโรคเรื้อรังตามมาในระยะยาว

เพื่อเป็นการไม่ประมาท ผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน ควรระมัดระวัง ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ และดูแลสุขภาพ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ รวมถึงไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างดำรงชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ป.ล.สังเกตจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินเปรียบเทียบในแต่ละปี และอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน ก็จะเห็นได้ถึงผลกระทบของโรคระบาดในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่ามีมากเพียงใด 

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ย่อมดีที่สุด

อ้างอิง

Groß R et al. COVID-19 and diabetes — where are we now? Nature Metabolism. 11 November 2022.







ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง