TNN online ต้องระวัง! โควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" พบมีคนติดเชื้อซ้ำมากกว่าเดิมมาก

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ต้องระวัง! โควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" พบมีคนติดเชื้อซ้ำมากกว่าเดิมมาก

ต้องระวัง! โควิดสายพันธุ์ โอมิครอน พบมีคนติดเชื้อซ้ำมากกว่าเดิมมาก

หมอธีระ เปิดข้อมูลโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีจำนวนคนติดเชื้อซ้ำมากกว่าเดิมมาก ย้ำการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันมีความสำคัญ

วันนี้ (21 ก.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat โดยระบุว่า 21 กรกฎาคม 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 760,982 คน ตายเพิ่ม 1,335 คน รวมแล้วติดไป 569,310,786 คน เสียชีวิตรวม 6,390,965 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบราซิล

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 69.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 46.32

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตความรู้โควิด-19

1. Omicron ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

ข้อมูลจาก Office for National Statistics สหราชอาณาจักร ชี้ให้เห็นว่า คนที่เคยติดเชื้อ Omicron มาก่อนแล้วเกิดการติดเชื้อ Omicron ซ้ำนั้น พบมากกว่าคนที่เคยติดเชื้อเดลต้ามาก่อนแล้วติดเชื้อเดลต้าซ้ำถึงเกือบ 15 เท่า

ในขณะที่คนที่เคยติดเชื้ออัลฟ่า หรือเดลต้ามาก่อน แล้วมาติดเชื้อ Omicron ซ้ำ พบมากกว่าคนที่เคยติดเชื้อเดลต้ามาก่อนแล้วติดเชื้อเดลต้าซ้ำถึง 37-38 เท่า

แสดงให้เห็นว่า ไวรัสสายพันธุ์ Omicron นั้นทำให้มีจำนวนคนติดเชื้อซ้ำมากกว่าเดิมมาก ดังนั้นการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันจึงมีความสำคัญยิ่ง

2. ไวรัส SARS-CoV-2 สามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อระหว่างเซลล์ในสมอง

Pepe A และคณะจากประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Science Advances วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

สาระสำคัญคือ การชี้ให้เห็นว่าไวรัสโรคโควิด-19 นั้นสามารถแพร่เชื้อจากเซลล์สมองเซลล์หนึ่งไปยังเซลล์อื่นที่ยังไม่ติดเชื้อได้ 

โดยผ่านกลไกการสร้าง Tunneling Nanotube (TNT) หรือเปรียบเหมือนการสร้างอุโมงหรือท่อขนาดเล็ก เป็นทางผ่านของเชื้อจากเซลล์ที่ติดเชื้ออยู่ไปยังเซลล์อื่นที่ยังไม่ติดเชื้อ

ผลการศึกษานี้อาจใช้เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยอธิบายพยาธิสภาพ และอาการผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาทที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อทั้งในระยะแรก และในระยะยาวอย่าง Long COVID ได้ ทั้งนี้คงต้องมีการติดตามและศึกษาเชิงลึกต่อไป

...สถานการณ์ของไทยเรา การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมาก



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง