TNN online สธ.เตรียมนำเข้า "ยาแพกซ์โลวิด" กลางเมษายนนี้

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

สธ.เตรียมนำเข้า "ยาแพกซ์โลวิด" กลางเมษายนนี้

สธ.เตรียมนำเข้า ยาแพกซ์โลวิด กลางเมษายนนี้

กรมการแพทย์ เตรียมเป็นผู้ลงนามจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดกับบริษัทไฟเซอร์ จำนวน 50,000 คอร์ส ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ หากครม.ให้ความเห็นชอบการจัดซื้อ โดยคาดว่าประเทศไทยจะมียาแพกซ์โลวิดใช้รักษาผู้ป่วย/ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยยาแพกซ์โลวิด มีคุณสมบัติเด่นในการต้านไวรัสไม่ให้ไวรัสเพิ่มในร่างกาย และ มีประสิทธิผลลดการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลสูงถึง ร้อยละ 89

ความคืบหน้าการจัดหายารักษาอาการโวิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า หลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม ครม.เพื่อให้อำนาจกรมการแพทย์เป็นผู้ลงนามจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดกับบริษัทไฟเซอร์ จำนวน 50,000 คอร์ส ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ 

โดยทางบริษัทผู้ผลิตระบุว่าหลังจากลงนามแล้วจะพร้อมส่งสินค้าภายใน 1 สัปดาห์ จึงคาดว่าประเทศไทยจะมียาแพกซ์โลวิดใช้รักษาผู้ป่วย/ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมียาหลักที่ใช้รักษาโควิด-19 ประมาณ 5 ตัว สำหรับแนวทางการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีดังนี้ 

1.กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้รับประทานยา 

2.กลุ่มป่วยอาการน้อย และไม่มีภาวะเสี่ยง เช่น ไข้ไม่สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ จะรักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น 

3.กลุ่มป่วยอาการน้อยแต่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัว จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากเป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคร่วม 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน กลุ่มนี้จะให้ยาโมลนูพิราเวียร์ 

4.ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบ จะให้ยาเรมดิซิเวียร์

สำหรับยาแพกซ์โลวิด เป็นยาช่วยต้านไวรัสไม่ให้ไวรัสเพิ่มในร่างกาย และ จะออกฤทธิ์ตรงเอมไซม์ ที่ไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนไวรัส ซึ่งมีประสิทธิผลลดการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลสูงถึง ร้อยละ 89 โดยต้องใช้ควบคู่กับยาริโทนาเวียร์ โดยใช้ยาแพลกซ์โลวิด 30 เม็ดต่อคน แบ่งเป็นวันละ 6 เม็ด เช้า 3 เม็ด เย็น 3 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน 

ส่วนกรณีที่กรมควบคุมโรค แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังและเฝ้าระวัง ไข้เลือดออกอาจมีการระบาดรุนแรงในช่วงเดือนเมษายน  โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าโรคไข้เลือดออกที่มีโอกาสระบาดหนักในปี 2565 นี้ 

หลังสำรวจพบดัชนีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้การระบาดไข้เลือดออกเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นปีนี้ มีฝนมาก จึงจับสัญญาณว่าไข้เลือดออกน่าจะมาแรง และจะเริ่มระบาดหลังช่วงสงกรานต์ เพราะธรรมชาติของไข้เลือดออกจะระบาดลักษณะ 1 ปี เว้นปี หรือเว้น 2 ปี

สำหรับสายพันธุ์ที่คาดว่าจะมีการระบาดในปี 2565 คือเดงกี่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะหากติดเชื้อร่วมกับสายพันธุ์อื่น จะทำให้โรคมีความรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยวันนี้กรมควบคุมโรคเตรียมเสนอแผนรับมือเป็นระยะ คือช่วงก่อนระบาด ช่วงระบาด และหลังการระบาด ต่อที่ประชุม สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้ว่าอาการไข้เลือดออกช่วงแรกใกล้เคียงโควิดมาก และด้วยโควิดระบาดทั่วประเทศ เมื่อติดเชื้ออาการช่วงแรกจะมีไข้ ซึ่งอาจจะแยกไม่ออก ยกเว้นจะมีอาการระบบทางเดินหายใจชัดว่าเป็นโควิด เช่น น้ำมูก เจ็บคอ แต่ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ก็จะเป็นอาการไข้เลือดออก ฉะนั้น หากมีอาการคล้ายเป็นไข้เลือดออก ก็ขอให้พบแพทย์ เจาะเลือดวินิจฉัย เพราะอาจมีอาการ 2 โรคสองอย่างเป็นพร้อมกันได้ 

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่าในปี 2564 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทั้งหมด 6 คน แต่ปี 2565 ตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้เพียงแค่ 3 เดือน มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตไปแล้ว 3 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตก็เป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 ด้วย และยังพบอีกว่าทั้ง 3 ราย ที่เสียชีวิตนั้น ซื้อยาไปรับประทานเองจากร้านขายยา เป็นยากลุ่มที่เรียกว่า เอ็นเสด หรือเดิมคือ แอสไพริน ซึ่งยากลุ่มนี้ทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร และเสียชีวิตได้.


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง