TNN online “เจอ-แจก-จบ” คืออะไร และแตกต่างจากระบบรักษาที่บ้าน (HI) อย่างไร?

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

“เจอ-แจก-จบ” คืออะไร และแตกต่างจากระบบรักษาที่บ้าน (HI) อย่างไร?

“เจอ-แจก-จบ” คืออะไร และแตกต่างจากระบบรักษาที่บ้าน (HI) อย่างไร?

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดข้อมูล การรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก (OPD) “เจอ-แจก-จบ” ว่ามีความแตกต่างจากระบบรักษาที่บ้าน (HI) อย่างไร?

การรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก (OPD)  #เจอแจกจบ เป็นการรักษาผู้ติดเชื้อ #โควิด19 ที่ไม่มีอาการแบบผู้ป่วยนอก เมื่อ (เจอ)  ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก  ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ (แจก) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการว่าจ่ายยาสูตรไหน ซึ่งมีด้วยกัน 3 สูตร ได้แก่ 


1.ยาฟ้าทะลายโจร 

2.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก 

3.ยาฟาวิพิราเวียร์ แพทย์จะแนะนำการดูแลรักษาต่อไป (จบ) จ่ายยาแล้วให้กลับมากักตัวที่บ้าน โดยจะมีหน่วยบริการติดตามอาการ 1 ครั้ง เมื่อครบ 48 ชั่วโมง  แต่ไม่มีการแจกอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และไม่มีบริการอื่นๆ เช่น อาหาร 3 มื้อ เหมือนระบบรักษาที่บ้าน


ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง มีโรคประจำตัว เมื่อแพทย์ตรวจมีอาการไม่รุนแรงก็ให้เข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) หรือการรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation หรือ CI), Hospitel และ Hotel Isolation แต่หากมีอาการรุนแรงมาก มีภาวะเสี่ยงจะถูกคัดแยกไปที่โรงพยาบาล โดยระบบ HI จะได้รับยาตามอาการ โทรติดตามอาการทุกวัน ได้รับอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว รวมถึงบริการอาหาร 3 มื้อ 


“เจอ-แจก-จบ” คืออะไร และแตกต่างจากระบบรักษาที่บ้าน (HI) อย่างไร?



นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ได้ปรับบทบาทของสายด่วน สปสช. 1330 จากเดิมที่รับลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการรักษาที่บ้าน ได้เพิ่มบทบาทเป็นผู้ทำหน้าที่คัดกรองความเสี่ยงให้ประชาชนที่ตรวจ ATK แล้วพบผลบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น หากประชาชนมีอาการทางเดินหายใจหรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นบวก นอกจากจะเดินทางเพื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลในส่วนของผู้ป่วยนอกเพื่อรับการประเมิน หากไม่มีภาวะเสี่ยง ก็เข้าสู่แนวทาง เจอ แจก จบ และเข้ารับบริการ tele-health กับโรงพยาบาลนั้น แต่หากมีภาวะเสี่ยง คือ เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มาก จะให้เข้าระบบ HI/CI, Hotel Isolation และฮอสปิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล


แต่กรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต้องการเดินทางไปที่โรงพยาบาล สามารถโทร. 1330 ซึ่ง สปสช.และสถานพยาบาลที่รับดูแลจะคัดกรองอาการเบื้องต้นให้ หากพบว่าไม่มีภาวะเสี่ยงก็จะเข้าสู่การรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามแนวทาง “เจอ-แจก-จบ” โดย สปสช.จะจับคู่ให้ดูแลกับสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการดูแลแบบ tele-health คือ แยกกักตัวที่บ้าน, จ่ายยาตามอาการ, โทรติดตามอาการ (ครั้งเดียว 48 ชั่วโมง), มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง แต่ระบบนี้จะไม่ได้รับอาหาร และไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมิน เช่น เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว


เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท ต้องการเข้าระบบการรักษาที่บ้าน ก็ตัดสินใจร่วมกับผู้ที่ประเมินอาการ เพื่อเข้ารับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และได้รับการดูแลตามระบบได้เช่นเดียวกัน สำหรับหน่วยบริการที่ดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองนั้น สปสช.ยังคงดูแลเหมือนเดิม หน่วยบริการก็จะได้รับการเบิกจ่ายตามอัตราที่กำหนด รวมถึงหากมีอาการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าโรงพยาบาลก็เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามอัตราที่กำหนดเหมือนที่เคยดำเนินการ ทั้งหมดนี้ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

ดูรายละเอียดอัตราจ่ายค่าบริการโควิด-19 ของ สปสช.เริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค.65 

https://www.nhso.go.th/news/3487




ข้อมูล สปสช.

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง