TNN การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

คราวก่อนเราคุยถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพสูง” (High Quality Development) ผ่านเซี่ยงไฮ้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น วันนี้ผมจะขอนำเอา “อุตสาหกรรมยา” ในเซี่ยงไฮ้มาเป็นกรณีศึกษาในการอธิบายนโยบายดังกล่าวของจีนว่าเกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร …

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นวัตกรรม ระบบดิจิตัล และการพัฒนาที่ยั่งยืนกำลังกลายเป็น “ข้อริเริ่มหลัก” ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของวงการยาของจีนสู่โลกอนาคต

ในด้านอุปทาน รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสูงด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม 

เราเห็นความพยายามในการบูรณาการ “หลายสิ่ง” เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคร้าย และลดภาระของแพทย์และพยาบาล รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่คนไข้และญาติ

ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาระบบการจดจำใบหน้ามาช่วยในการลงทะเบียนเข้าคิว การเข้าพบแพทย์ และการรับยา หรือการนำอาระบบการจดจำใบหน้า บิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้มาช่วยออกแบบโปรแกรมการรักษาโรคมะเร็งที่ลงลึกระดับดีเอ็นเอ (เผ่าพันธุ์) ระดับอายุ เพศ และพฤติกรรมการบริโภค และอื่นๆ รวมทั้งการรักษาทางไกล และบริการตรวจสุขภาพชุมชนดิจิตัล

ขณะเดียวกัน เราเห็นกิจการยาชั้นนำของโลกต่างถาโถมเข้าไปลงทุนในจีนอย่างต่อเนื่อง กิจการเหล่านี้ทุ่มทุนกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างจริงจังในช่วงหลายปีหลังนี้ ภาพดูจะชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19

นับแต่ปี 2019 โบริงเกอร์ อิงเกลไฮม์ (Boehringer Ingelheim) กิจการยาสัญชาติเยอรมนีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้เริ่มนำเสนอกลยุทธ์ “China Key” (กุญแจจีน) ที่ผนวกจีนเข้ากับการพัฒนาทางคลีนิกในระยะแรก การขึ้นทะเบียนยา และการนำเสนอยาตัวใหม่ในตลาดโลกไปพร้อมกัน

โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BI ยังได้บรรลุความตกลงในความร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำของจีนจำนวนเกือบ 20 แห่ง และดำเนินโครงการระดับโลกด้านการคิดค้นและพัฒนาและทดสอบด้านคลินิกจำนวนถึง 14 โครงการในจีนในหลายด้าน อาทิ เนื้องอกวิทยา ผังผืดที่ปอด และภูมิคุ้มกันวิทยา

BI ยังขยายความเป็นที่รู้จักในธุรกิจและนวัตกรรมของตนเองสู่สายตาของชาวจีนและชาวโลกผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) มาอย่างต่อเนื่อง

ในมุมมองของธุรกิจยาชั้นนำ การปรับโครงสร้างด้านดิจิตัลของจีนได้กลายเป็น “เสาหลัก” เชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมไปในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การทดลองทางคลินิก การผลิต และการพาณิชย์

“คอนซานาสคลาวด์ (Consanas Cloud) แพลตฟอร์มการบำบัดรักษาตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง “สโตร็ก” ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีก่อน ก็เป็นผลผลิตโซลูชั่นด้านดิจิตัลแรกที่ก่อกำเนิดมาจาก “บีไอ เอ็กซ์” (BI X) แล็บนวัตกรรมด้านดิจิตัลที่ก่อตั้งในพื้นที่เมื่อปี 2020

นกจากนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนายารักษาโรคผิวหนังที่พร้อมนำเสนอสู่ท้องตลาดในอนาคตอันใกล้หลังจากได้รับอนุมัติจากสำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ยาแห่งชาติ (National Medical Products Administration) เมื่อปลายปีก่อน และได้ถูกจดขึ้นทะเบียนเกือบพร้อมกับในประเทศอื่น 

และเพื่อเอาประโยชน์จาก “ความเร็วของจีน” (China Speed) ที่อนุมัติการขึ้นทะเบียนยาใหม่และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนอีกเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อขยายฐานการผลิตและยกระดับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 

ขณะเดียวกัน ในตลาดยาสัตว์ BI ยังวางแผนเพิ่มสินค้าถึง 15 รายการและข้อบ่งใช้ใหม่ รวมทั้งเตรียมนำเสนอโซลูชั่นสุขภาพสัตว์องค์รวมโดยผนวกเข้ากับความสามารถด้านดิจิตัลของจีน

อีกรายหนึ่งก็ได้แก่ แอสตร้า เซเนก้า (Astra Zeneca) ที่จับมือเป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรมกับกิจการท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง 

ด้วยความเร็วในด้านนวัตกรรมและการขยายตัวของอุตสาหกรรมไบโอเทคในจีน ทำให้ AZ มองตลาดจีนว่าเป็นดินแดนแห่งโอกาสทางธุรกิจที่ต้องอาศัยการเป็นพันธมิตรกับกิจการท้องถิ่นในการวิจัยและพัฒนาตัวยาใหม่

AZ ยังลงทุนพัฒนายาตัวใหม่ในจีนคู่ขนานไปกับการวิจัยและพัฒนาระดับโลก แถมในบางกรณี นวัตกรรมท้องถิ่นยังก้าวไปไกลกว่าของต่างประเทศเสียอีก ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการนำเอางานวิจัยท้องถิ่นมาต่อยอด และพัฒนากลไกที่อ่อนไหวต่อการรักษาโรคเฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งที่เป็นโรคยอดนิยมในจีน 

หนึ่งในความร่วมมือกับกิจการท้องถิ่นที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มเซลลูล่าไบโอเมดิซิน (Cellular Biomedicine Group) แห่งเซี่ยงไฮ้ ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งในตับรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ AZ ยังได้รับใบอนุญาตพิเศษสำหรับการวิจัย การพัฒนา การขึ้นทะเบียน การผลิต และการพาณิชย์สารต่อต้านเชื้อโรคในร่างกาย “แอนติบอดี้” (Antibody) สำหรับมะเร็งตับอ่อนและมะเร็งกระเพาะอาหารจากฮาร์เบอร์ไบโอเมด (Harbour BioMed)

ด้วยการขยายการลงทุนของจีนและต่างชาติในจีนที่คาดว่าจะกลับมา “กระชุ่มกระชวย” อีกครั้งในปีนี้ และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความเป็นรูปธรรมของนโยบาย “การพัฒนาคุณภาพสูง” ของจีนจะเกิดเป็นรูปธรรมในวงกว้างยิ่งขึ้นในอนาคต 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้คนไข้ชาวจีนและในหลายประเทศทั่วโลกได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาที่ถูกคิดค้นและนำเสนอสู่ท้องตลาดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ...


ภาพจาก : AFP 

ข่าวแนะนำ