TNN online เรือดำน้ำไททัน ผู้เชี่ยวชาญระบุโอกาสกู้สำเร็จ "มีเพียงครั้งเดียว"

TNN ONLINE

World

เรือดำน้ำไททัน ผู้เชี่ยวชาญระบุโอกาสกู้สำเร็จ "มีเพียงครั้งเดียว"

เรือดำน้ำไททัน ผู้เชี่ยวชาญระบุโอกาสกู้สำเร็จ มีเพียงครั้งเดียว

ผู้เชี่ยวชาญกำลังระดมสมองค้นหา "เรือดำน้ำไททัน" ชี้ทีมกู้ภัยมีโอกาสอย่างมากที่สุด 'เพียงครั้งเดียว' ที่จะกู้ไททันได้สำเร็จ ขณะที่โอกาสที่คนในยานจะรอดชีวิตในครั้งนี้มีเพียง 1%

ผู้เชี่ยวชาญกำลังระดมสมองค้นหา "เรือดำน้ำไททัน" ชี้ทีมกู้ภัยมีโอกาสอย่างมากที่สุด 'เพียงครั้งเดียว' ที่จะกู้ไททันได้สำเร็จ ขณะที่โอกาสที่คนในยานจะรอดชีวิตในครั้งนี้มีเพียง 1%


เจ้าหน้าที่กู้ภัย ยามฝั่งทั้งจากสหรัฐฯ และแคนาดา กำลังร่วมมือกันค้นหายานดำน้ำไททันที่ขาดการติดต่อไปตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ระหว่างดำลงสู่ก้นทะเลเพื่อชมซากเรือไททานิค ที่ความลึกราว 3,800 เมตร โดยขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใด ยานดำน้ำไททันจึงขาดการติดต่อกับเรือขนาดใหญ่อีกลำซึ่งคอยดูแลอยู่บนผิวน้ำ อย่างไรก็ตามทีมค้นหายังไม่หมดหวังและกำลังเร่งมือค้นหา หลังจากจับสัญญาณได้ว่า เกิดเสียงดังใต้น้ำซึ่งทิ้งช่วงทุก 30 นาทีตั้งแต่เมื่อวานนี้(21 มิ.ย.) โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญทางทะเลจากทั่วโลก


ขณะนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นว่า หากยานดำน้ำไททันยังคงอยู่ในสภาพปกติใต้ทะเล มีหนทางเดียวที่จะช่วยกู้เรือขึ้นมาได้ ซึ่งก็คือการลากหรือดึงยานดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำ


วิธีที่ 1 ที่อาจนำมาใช้ได้ก็คือการดึงยานดำน้ำไททันขึ้นมาโดยใช้ระบบ Flyaway Deep Ocean Salvage System (FADOSS) ซึ่งเป็นระบบดึงและยกวัตถุที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากด้วยสายเคเบิลและกว้าน สามารถใช้ยกวัตถุที่มีน้ำหนักสูงสุดได้ 60,000 ปอนด์ (ราว 37 ตัน) ส่วนเรือไททันนั้น มีน้ำหนักประมาณ 20,000 ปอนด์ (ราว 9 ตัน)


วิธีที่ 2  คือใช้ระบบยานดำน้ำบังคับระยะไกล CURV-21 ของกองทัพสหรัฐ ซึ่งสามารถลงลึกไปถึง 20,000 ฟุต หรือมากกว่า 6,000 เมตรใต้ทะเล แต่มีข้อจำกัดคือรับน้ำหนักได้เพียง 4,000 ปอนด์ (ราว 1.8 ตัน) จึงเป็นไปได้ยากที่จะดึงตัวยานไททันขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม กองทัพสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า มีแผนจะใช้งานร่วมกับระบบ FADOSS ในการกู้ยาน



เรือดำน้ำไททัน ผู้เชี่ยวชาญระบุโอกาสกู้สำเร็จ มีเพียงครั้งเดียว ภาพจาก รอยเตอร์

 



อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักคือ จะหาทางลงไปติดตั้งสายลากจูงกับตัวยานดำน้ำไททันได้อย่างไร ที่ความลึกหลายพันเมตรใต้ทะเล ทางออกอาจมาจากฝรั่งเศส ที่กำลังส่งเรืออตาลองต์ไปยังพื้นที่ค้นหา พร้อมกับหุ่นยนต์ Victor 6000 ซึ่งสามารถลงไปปฏิบัติการใต้ทะเลได้ลึกถึงเกือบ 6,000 เมตร


โฟติส พากูลาโทส วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อเรือและยานพาหนะทางน้ำ เผยกับวอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า ต่อให้เจอยานดำน้ำที่ก้นสมุทร ก็อาจไม่มีเวลามากพอที่จะช่วยเหลือผู้โดยสารและลูกเรือในยานไททันได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากทีมกู้ภัยจะต้องมีเรือที่สามารถหย่อนสายเคเบิลลงไปดึงยานไททันขึ้นมา หรือต้องมีอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายมือจับ เพื่อยึดเกาะยานแล้วดึงขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่ถึงแม้จะเจอยานไททัน ทีมกู้ภัยก็อาจไม่มีเวลามากพอที่จะช่วยดึงสู่ผิวน้ำ เพราะปริมาณออกซิเจนในเรือที่เหลืออยู่อาจมีไม่มากพอ


ทีมกู้ภัยมีโอกาสอย่างมากที่สุด 'เพียงครั้งเดียว' ที่จะกู้ยานดำน้ำไททันได้สำเร็จ ขณะที่โอกาสที่คนในยานไททันจะรอดชีวิตในครั้งนี้ มีเพียง 1% ตัวเขานั้นยังคงมีความหวัง แต่ก็อยากจะให้ครอบครัวของผู้โดยสารและลูกเรือ เผื่อใจไว้สำหรับข่าวร้ายด้วย 


อย่างไรก็ตามหากอ้างอิงกันตามทฤษฎี ออกซิเจนในเรือดำน้ำไททัน ที่ลงไปชมซากเรือไททานิค ได้หมดลงแล้ว เมื่อเวลา 17:00 น.ของวันที่ 22 มิ.ย.66 ตามเวลาประเทศไทย





ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง