TNN online เปิดวิสัยทัศน์ “มาม่า” มุ่งสู่สินค้าพรีเมี่ยม เพิ่มส่งออก 40%

TNN ONLINE

Wealth

เปิดวิสัยทัศน์ “มาม่า” มุ่งสู่สินค้าพรีเมี่ยม เพิ่มส่งออก 40%

เปิดวิสัยทัศน์ “มาม่า” มุ่งสู่สินค้าพรีเมี่ยม เพิ่มส่งออก 40%

บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เผยวิสัยทัศน์ มุ่งสู่สินค้าพรีเมี่ยม เพิ่มส่งออก 40%

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย TNN Wealth ว่า ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หลายคนมองว่า มาม่า จะมียอดขายเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามุมมองดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ เพราะยอดขายในปี 63 และ 64 โดยรวมทั้งปีก็ปรับขึ้นในอัตราปกติ 3-4 % โดยในช่วงโควิด-19 ระลอกแรกในช่วงเดือนเม.ย. – พ.ค. 63 ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย  ยอดขายก็ค่อย ๆ ลดลงจนยอดรวมทั้งปี 63 ขยายตัว 4 – 5% และในการระบาดรอบ 3 ในช่วงเดือนเม.ย. จนถึงขณะนี้มีการประกาศล็อกดาวน์ยอดขายก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเหมือนกับระลอกแรก เพราะว่าผู้คนเริ่มปรับตัวได้ การที่เห็นสินค้าพร่องชั้นวางสินค้าในโมเดิร์นเทรด หรือดิสเคาท์สโตร์ ก็เพราะว่าผู้บริโภคไม่อยากออกมาจากบ้านบ่อย จึงซื้อปริมาณเพิ่มขึ้น และคาดว่ายอดขายทั้งปี 64 น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 4-5% จากยอดขายประมาณ 1 หมื่นล้านบาท  ในช่วงนี้มาม่าแบบซองจะขายดีมาก แต่แบบคัพยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าผู้บริโภคกักตัวอยู่บ้านจึงนิยมซื้อแบบซองมากกว่า 


ทั้งนี้ มั่นใจว่าสินค้ามีเพียงพอไม่ขาดตลาดอย่างแน่นอน เพราะโรงงานทุกแห่งยังคงผลิตได้ตามปกติ ซึ่งบริษัทฯ ให้ความเข้มงวดในการตรวจเชื้อ การฉีดวัคซีนให้กับแรงงาน และหากมีคนลาออก หรือติดโควิด-19 ก็ไม่รับคนงานหน้าใหม่เข้ามา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทำให้มีกำลังการผลิตอยู่ในระดับ 80-90% และหันมาเพิ่มโอทีให้มีเวลาการทำงานมากขึ้น


นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 เราก็ได้เห็นโอกาสในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีลูกค้าจากประเทศใหม่ ๆ ติดต่อเข้ามามากขึ้น รวมทั้งการเจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ และการค้าออนไลน์ ก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก 

ทำให้ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้สูง จากเดิมจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ บางครั้งเป็นตลาดขนาดเล็กก็ไม่คุ้มค่า แต่ในขณะนี้ใน 1 วัน สามารถประชุมกับลูกค้าได้ถึง 5 ประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาได้เปิดตลาดในประเทศใหม่ ๆ ได้แล้วประมาณ 10 ประเทศ โดย บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดต่างประเทศให้มีสัดส่วน 40% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 30% ของยอดขายทั้งหมดประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ผู้บริโภคที่เป็นฝรั่งจริงๆ ได้หันมารับประทานผลิตภัณฑ์ของมาม่ามากขึ้น จากเดิมลูกค้าหลักในต่างประเทศจะเป็นคนเอเชียที่ไปอยู่ในประเทศนั้น ๆ  และได้ปรับรสชาติให้ถูกปากชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมรสซุปไก่ รวมทั้งได้ออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ ๆ ที่เหมาะกับต่างชาติ และรสชาติแบบอาหารไทยที่ต่างชาตินิยม เช่น มาม่าผัดไทย เป็นต้น  เนื่องจากตลาดในประเทศไทยก็ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว โดยมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงถึง 50 ซอง/คน/ปี ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แต่ในประเทศอื่น ๆ ยังต่ำกว่านี้มาก ทำให้มีช่องว่างในการทำตลาดได้อีกเยอะ  


โดยบริษัทฯมีแผนที่จะขยายการผลิตในโรงงานในกัมพูชาอีก 1 เท่าตัว เพราะมียอดขายเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะแบบคัพ และสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในเมียนมาที่เมืองมัณฑะเลย์ ส่วนโรงงานในประเทศฮังการี และบังกลาเทศ ยังไม่มีแผนขยายเพิ่ม

นอกจากนี้ จะผลิตมาม่าแบบพรีเมียมเพิ่มขึ้นในกลุ่มออเรียนทัลคิตเชน ที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ให้มีความหลากหลายรสชาติมากยิ่งขึ้น เพราะตลาดตอบรับดีมาก และเพื่อเข้าไปแข่งกับแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาแข่งในประเทศไทยมากขึ้น 


ในปี 2562 – 2563 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างชาติโดยเฉพาะเกาหลีใต้ได้เข้ามามีส่วนแบ่งการตลาดมาถึง 10% เนื่องจากอิทธิพลของซีรี่ย์และภาพยนตร์เกาหลีใต้ แต่หลังจากเกิดโควิดก็ลดลงเหลือประมาณ 5% เพราะประชาชนมีกำลังซื้อลดลง 

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯมากขึ้น จากเดิมที่สินค้าหลักจะเป็นผลิตภัณฑ์ราคาถูก เนื่องจากในขณะนี้ต้นทุนวัตถุดิบทุกตัวเพิ่มขึ้นมาก ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม รวมทั้งยังมีแผนที่จะนำรสชาติแปลก ๆ ที่ขายในต่างประเทศเข้ามาขายในไทยมากขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะลูกค้าในไทยมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งมาม่าจะต้องรักษาตลาดเก่า และเข้าไปต่อสู้ในสนามใหม่ให้ได้มากขึ้น และก้าวไปสู่อาหารที่มีคุณภาพสูง และปลอดภัยต่อสุขภาพ


“นอกจากแบรนด์ต่างประเทศจะเข้ามาแข่งขันแล้ว ในประเทศก็มีคู่แข่งอยู่หลายรายที่นำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีราคาสูงเข้าสู่ท้องตลาด ชี้ให้เห็นว่ากำแพงราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะต้องถูกได้พังทลายแล้ว เปิดโอกาสให้สินค้าที่มีราคาสูงเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น และผู้บริโภคก็มีความต้องการมากขึ้น” นายพันธ์ กล่าว



ข่าวแนะนำ