TNN online เงินบาทอ่อน! ผวาบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งต่อ

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทอ่อน! ผวาบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งต่อ

เงินบาทอ่อน! ผวาบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งต่อ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้อ่อนค่าลงที่ระดับ 30.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงหลังบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯพุ่ง เตือนระวังสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ผันผวนตามแรงเทขายสินทรัพย์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงพุ่งขึ้น กดดันให้ตลาดกลับมากังวล Valuation ของ ราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นเติบโต 


ซึ่งตลาดยังคงมองว่า ระดับราคา ณ ปัจจุบัน ยังคงดูแพงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นเทคฯ รวมถึงหุ้นเติบโต กดดันให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี หุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า 2.7% ขณะที่ ดัชนี Dowjones กลับปรับตัวลงเพียง 0.4% ขณะที่ฟากตลาดยุโรปได้รับแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นกัน  แต่โดยรวมตลาดฝั่งยุโรปมีสัดส่วนของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นเติบโตไม่มาก ทำให้ ดัชนี STOXX50 ปรับตัวขึ้นราว 0.14% โดยส่วนหนึ่งก็ได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันเบรนท์ที่พุ่งขึ้นกว่า 1.5% สู่ระดับราว 64 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล


ในฝั่งตลาดบอนด์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความผันผวนของตลาด ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องกว่า 5bps สู่ระดับ 1.48% จากความคาดหวังว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯจะกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง หนุนโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (เงินเฟ้อคาดการณ์ใน 5ปี ข้างหน้า) ที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 10ปี ที่ระดับเกือบ 2.50% สอดคล้องกับรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการที่ระบุ ภาวะการเร่งตัวขึ้นของต้นทุนราคาสินค้า/วัตถุดิบ


ทั้งนี้ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 91จุด อีกครั้ง ทำให้ เงินยูโรอ่อนค่าลงราว 0.2% สู่ระดับ 1.206 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยนอ่อนค่ากว่า 0.3% แตะระดับ 107 เยนต่อดอลลาร์ 


สำหรับวันนี้ตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจดังนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังดูสดใสอยู่ สะท้อนผ่าน ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะเพิ่มขึ้นราว 7.5แสนราย ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นในระดับ 8-9 แสนราย ทั้งนี้ตลาดจะรอการรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ เพื่อติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน


นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ และตลาดการเงินได้ หากสมาชิกหลักของกลุ่ม OPEC+ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย ส่งสัญญาณพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ในอัตราวันละไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบย่อตัวลงในระยะสั้น อาจช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของยีลด์ระยะยาวได้ นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของยีลด์ระยะยาว อาจถูกกดดันจากถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งคาดว่าจะออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อหรือไม่รีบลดการอัดฉีดสภาพคล่อง จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจน  


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ผันผวนในกรอบกว้าง ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM โดยยังคงต้องระวัง กรณีที่ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังพุ่งขึ้นต่อได้ ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจได้แรงหนุนจากการจ้างงานที่ดีกว่าคาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้ สกุลเงิน EM ผันผวนมากขึ้นและอ่อนค่าลงได้ ตามแรงเทขายสินทรัพย์ EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก) นอกจากนี้ ในช่วงระยะสั้น ฝั่งผู้นำเข้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับ บริษัท MNC ญี่ปุ่น ที่เข้ามาซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อาทิ เงินเยนที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปิดปีงบประมาณ ขณะที่ในฝั่งผู้ส่งออกก็ไม่รีบมาขายเงินดอลลาร์ เพราะมองว่า เงินบาทยังอาจจะอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้างถึง 30.15-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.30-30.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

ข่าวแนะนำ