TNN online BA เผยปี 63 ทำรายได้ลดลง 64.2% ขาดทุนกว่า 5 พันล้านจากผลกระทบโควิด-19

TNN ONLINE

Wealth

BA เผยปี 63 ทำรายได้ลดลง 64.2% ขาดทุนกว่า 5 พันล้านจากผลกระทบโควิด-19

BA เผยปี 63 ทำรายได้ลดลง 64.2% ขาดทุนกว่า 5 พันล้านจากผลกระทบโควิด-19

บางกอกแอร์เวย์ส BA ประกาศผลการดำเนินงานปี 2563 ทำรายได้รวม 10,216.3 ล้านบาท ลดลง 64.2% ขาดทุนกว่า 5,327 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้จำกัดการเดินทาง-ผู้โดยสารลด

วันนี้ (3 มี.ค.64) นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2563 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 10,216.3 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 64.2  ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจสายการบินที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 70.4, ธุรกิจสนามบิน ปรับตัวลดลง  67.6 และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ลดลงร้อยละ 57.5 ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 5,327.8 ล้านบาท โดยเป็นผลขาดทุนส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 5,283.2 ล้านบาท และมีผลขาดทุนต่อหุ้นเท่ากับ 2.56 บาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ปรับแผนการปฏิบัติการบิน ให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดการเดินทาง และปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร โดยได้ทยอยหยุดทำการบินในบางเส้นทางตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 จนกระทั่งประกาศหยุดทำการบินในทุกเส้นทางชั่วคราว ระหว่างวันที่ 6 เมษายน -14 พฤษภาคม 2563 และเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ในเส้นทางกรุงเทพฯ – สมุยเป็นเส้นทางแรก และทยอยปฏิบัติการบินเส้นทางภายในประเทศเป็น 10 เส้นทางในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ได้แก่ กรุงเทพฯ – สมุย, กรุงเทพฯ – เชียงใหม่, กรุงเทพฯ - ลำปาง, กรุงเทพฯ – สุโขทัย, กรุงเทพฯ - ภูเก็ต, กรุงเทพฯ - ตราด, กรุงเทพฯ – กระบี่, ภูเก็ต – สมุย, ภูเก็ต – หาดใหญ่ และภูเก็ต – อู่ตะเภา ทำให้ปี 2563 สายการบินฯ มีจำนวนผู้โดยสารรวมอยู่ที่ประมาณ 1,884,603 คน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 67.8 และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารรวมอยู่ที่ร้อยละ 62.9 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ออกมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ทั้งในส่วนของสายการบินฯ และสนามบินของบริษัทฯ ทั้ง 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย และตราด) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร 

สำหรับธุรกิจการลงทุน บริษัทฯ ได้ลงทุนในกิจการร่วมค้าบีบีเอส ร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ ได้แก่ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเแนล เอวิเอชั่น จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท และได้ลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และเป็นบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินระดับภูมิภาค ได้รับใบรับรองจากสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Certificate of Training Organization Approval) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย


ข่าวแนะนำ