TNN online วิกฤต! หนี้ครัวเรือนสัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย

TNN ONLINE

Wealth

วิกฤต! หนี้ครัวเรือนสัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย

วิกฤต! หนี้ครัวเรือนสัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย

สศช. เปิดเผยตัวเลขหนี้สินครัวเรือนของไทย ไตรมาส 2 ปี 2562 เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท ร้อยละ 78.7 ต่อ GDP สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว

ทันที ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยตัวเลขหนี้สินครัวเรือนของไทย ไตรมาส 2 ปี 2562 โดยเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่  13 ล้านล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจาก เกาหลีใต้ และอันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ  ทำให้หลายฝ่ายต่างแสดงความเป็นห่วง เพราะนั่นหมายความว่า กำลังซื้อของประชาชนลดน้อยถอยลงจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น และท้ายที่สุดส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือน เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่ในความสนใจของสังคมมาโดยตลอด เพราะอัตราการเติบโตที่พุ่งขึ้นจากร้อยละ 60.3 ต่อ GDP ในไตรมาสแรก ปี 2554 มาอยู่ที่ ร้อยละ 80.8 ต่อ GDP  ณ สิ้นไตรมาส 4 ในปี 2558 ย่อมมีผลทั้งต่อเศรษฐกิจ และ เสถียรภาพการเงิน แม้ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย จะจับสัญญาณอันตรายของหนี้ครัวเรือนได้ จนต้องออกมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านมาตรการ LTV หรือ loan-to-value เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย อีกทั้ง ยังร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ กำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณภาระผ่อนชำระหนี้ เทียบกับรายได้ หรือ DSR เพราะที่ผ่านมา สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน  โดยล่าสุด ได้มีข้อตกลงร่วมกัน  คาดว่าจะเริ่มรายงานข้อมูล DSR  ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ 

จะเห็นว่า  ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ทยอยออกมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดปัญหาหนี้เสียภาคครัวเรือน  พร้อมส่งสัญญาณว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ ควรระมัดระวังการกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่ม เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ในปัจจุบัน  เพราะไม่เช่นนั้น ภาคครัวเรือน ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ ทั้งฐานะ “ผู้ออม” และ  “ผู้บริโภค” อาจต้องสะดุดลง ท้ายที่สุดจะบั่นทอนเสถียรภาพระบบการเงินไทย 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง