TNN online จับตา “เบร็กซิท” แบบไร้ข้อตกลงเอื้อส่งออกไทย

TNN ONLINE

Wealth

จับตา “เบร็กซิท” แบบไร้ข้อตกลงเอื้อส่งออกไทย

จับตา “เบร็กซิท” แบบไร้ข้อตกลงเอื้อส่งออกไทย

จับตา เบร็กซิท (Brexit) การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร 31 ต.ค.นี้ กระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่ต่างจากสงครามการค้า

เบร็กซิท (Brexit) หรือ  การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ของ สหราชอาณาจักร ที่เริ่มกระบวนการมา 2 ปีแล้ว  โดยจะครบกำหนดสิ้นสุดด้วยการออกจากสหภาพยุโรป หรือ อียู  ในวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนี้  และกำลังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก เพราะถูกจัดให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ไม่ต่างจากสงครามการค้า 

ล่าสุด นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ประกาศว่า อังกฤษ สามารถออกจาก อียู โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลง หรือ ที่เรียกว่า hard brexit  ชี้ให้เห็นว่า อังกฤษ เมินที่จะหาทางออกอย่างประนีประนอม  ซึ่งภาวะดังกล่าวเพิ่มความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ นักวิเคราะห์  คาดหมายไว้ว่า การถอนตัวออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง อาจจะทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษทรุดตัว พร้อมดึงเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตามไปด้วย

หากมองย้อนมาที่ประเทศไทย จะรับผลกระทบอย่างไรจาก เบร็กซิท แบบไม่มีข้อตกลง  ซึ่งในมุมมองของ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เห็นว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกไทยไปสหราชอาณาจักร เนื่องจากไทยและประเทศคู่แข่งใช้กฎกติกาเดียวกัน โดยสหราชอาณาจักรจะเก็บภาษีที่ร้อยละ 0 หรือ ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้า เป็นการชั่วคราว กับ สินค้ากว่าร้อยละ 87 ของรายการสินค้าทั้งหมด  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทย เพราะสินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกจะสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ จากที่อาจเคยเสียเปรียบเพราะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ จีเอสพี

ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรศึกษาตลาด และแสวงหาโอกาสจากการยกเลิกภาษีของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อัญมณี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง  อีกทั้ง คาดว่า ภายหลัง เบร็กซิท สหราชอาณาจักรจะปรับกฎระเบียบการค้าและการลงทุนให้ยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่ากฎระเบียบของ อียู เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว เบร็กซิท แบบไม่มีข้อตกลง จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทย ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองขององค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD  ที่ประเมินว่า จะเป็นผลบวกต่อไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออก และจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้นถึง 3,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ร้อยละ 107 ของการส่งออกไปสหราชอาณาจักร  

เห็นมุมมองเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นได้ว่า เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ แม้มุมหนึ่งอาจได้รับผลกระทบทางลบ อีกมุมหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต่างต้องปรับตัวรับมือสถานการณ์ให้ดี เพราะในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง