TNN online เงินเฟ้อไทยชะลอตัว อานิสงส์จากราคา "น้ำมัน-อาหาร" ลดลง

TNN ONLINE

Wealth

เงินเฟ้อไทยชะลอตัว อานิสงส์จากราคา "น้ำมัน-อาหาร" ลดลง

เงินเฟ้อไทยชะลอตัว อานิสงส์จากราคา น้ำมัน-อาหาร ลดลง

เงินเฟ้อในไทย ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ปรับตัวลดลง

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม อยู่ที่ 108.06 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.98 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.33 จากเดือนกันยายน ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 103.78 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 จากเดือนกันยายน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเผยว่า แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.98 เมื่อเทียบรายปี แต่ก็เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และสินค้าในกลุ่มอาหารสดราคาปรับลดลง เช่น เนื้อสุกร และไก่สด ขณะที่ผักสด ยังมีราคาสูงขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้แหล่งเพาะปลูกได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยกันดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการกำกับดูแลและควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง 

ซึ่งหากประเมินภาพรวมในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วย โดยเฉพาะแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงไม่ถึงร้อยละ 6 ตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลง

แต่อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อุปทานยังตึงตัว อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออก การท่องเที่ยว และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ในกรอบร้อยละ 5.5 - 6.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 6.0 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ภายใต้ 3 สมมติฐานสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 2.7 - 3.2  ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 90 - 110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี เคลื่อนไหวที่ 33.50 - 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ที่มาข้อมูล :TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง