TNN online คอกาแฟเตรียมจ่ายเงินเพิ่ม หลังสต็อกในเวียดนามลดครึ่งหนึ่ง

TNN ONLINE

Wealth

คอกาแฟเตรียมจ่ายเงินเพิ่ม หลังสต็อกในเวียดนามลดครึ่งหนึ่ง

คอกาแฟเตรียมจ่ายเงินเพิ่ม หลังสต็อกในเวียดนามลดครึ่งหนึ่ง

คอกาแฟเตรียมจ่ายเงินเพิ่ม หลังราคากาแฟในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณกาแฟในคลังและผลผลิตของเวียดนามมีแนวโน้มลดลง

คอกาแฟเตรียมจ่ายเงินเพิ่ม หลังราคากาแฟในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณกาแฟในคลังและผลผลิตของเวียดนามมีแนวโน้มลดลง

วันนี้ (24 ส.ค.65) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ราคากาแฟในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณกาแฟในคลังและผลผลิตของเวียดนามมีแนวโน้มลดลง 

ผลการสำรวจผู้ค้าหลายราย พบว่า ปริมาณกาแฟในคลังของเวียดนามเดือนกันยายนน่าจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และผลผลิตกาแฟของเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสตารายใหญ่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 มีแนวโน้มจะลดลงในปีนี้และปีหน้า

โดยปริมาณการจัดส่งกาแฟของเวียดนามน่าจะอยู่ที่ 200,000 ตัน เมื่อเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม เทียบกับ 400,000 ตันในปีที่แล้ว ส่วนผลผลิตอาจลดลงร้อยละ 6 อยู่ที่ 1.72 ล้านตัน ในปี 2565-2566 ขณะที่โรบัสตามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตกาแฟเวียดนาม

สต็อกกาแฟที่ลดลงและแนวโน้มการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การบริโภคกาแฟทั่วโลกฟื้นตัวจากภาวะชะลอตัวช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยราคากาแฟโรบัสตาล่าสุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เนื่องจากจากความกังวลด้านอุปทานในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลและแอฟริกา

กาแฟโรบัสต้าที่ใช้ในกาแฟสำเร็จรูปของแบรนด์ต่าง ๆ อาทิ เนสท์เล่ หรือผสมในกาแฟเอสเปรสโซ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ปกติแล้วโรบัสตาจะมีราคาถูกกว่าสายพันธุ์อาราบิกา ทำให้กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากผู้คนมองหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรเวียดนาม ระบุว่า ปริมาณกาแฟในเวียดนามลดลง เนื่องจากการส่งออกในเดือนมกราคม-กรกฎาคม อยู่ที่ 1.13 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งได้แรงหนุนจากอุปทานเรื่องตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่งเรือที่ดีขึ้น แต่แนวโน้มดังกล่าวก็เผชิญความท้าทายจากสต็อกกาแฟที่ลดลง

ทั้งนี้ ตลาดกาแฟทั่วโลกกำลังเผชิญกับการลดลงของผลผลิตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง เนื่องจากภัยแล้ง ฝนตกหนัก และปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งส่งผลกระทบต่อผลผลิตในประเทศต่าง ๆ อาทิ บราซิล โคลอมเบีย ยูกันดา ขณะที่ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และนิการากัว ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตน้อยลงในปี 2564-2565 



ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง