TNN online คาดกนง.ขึ้น ดอกเบี้ย อีก 2 ครั้งในปีนี้ -ศก.จะฟื้นตัวได้อย่างไรเมื่อยังมีความเสี่ยง?

TNN ONLINE

Wealth

คาดกนง.ขึ้น ดอกเบี้ย อีก 2 ครั้งในปีนี้ -ศก.จะฟื้นตัวได้อย่างไรเมื่อยังมีความเสี่ยง?

คาดกนง.ขึ้น ดอกเบี้ย อีก 2 ครั้งในปีนี้ -ศก.จะฟื้นตัวได้อย่างไรเมื่อยังมีความเสี่ยง?

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังเผชิญความเสี่ยงเงินเฟ้อ เฟดขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและบริการ เชื่อ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยวันนี้ (13 ก.ค.65) ว่า เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลง ทั้งจากแรงกดดันด้าน เงินเฟ้อ ที่มีอยู่ต่อเนื่อง และความกังวลต่อนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วของธนาคารกลางหลักของโลก อัตราเงินเฟ้อในเดือนที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นทั่วโลกและคาดว่าจะยังไม่ผ่านจุดสูงสุด

ขณะที่ธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีท่าทีดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวกว่าเดิมเพื่อควบคุมการเร่งตัวของ เงินเฟ้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยในเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในกลุ่มเศรษฐกิจหลักในตะวันตกมากขึ้น


เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูง จากความเสี่ยงวิกฤตพลังงานที่เพิ่มขึ้นหากรัสเซียหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ในกรณีฐาน EIC ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีโอกาสเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) แต่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และภาคธุรกิจโดยรวมยังคงขยายตัว


ด้านเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มดีขึ้นจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แม้ เงินเฟ้อ  ที่พุ่งสูงขึ้นยังเป็นประเด็นสำคัญที่อาจลดทอนการฟื้นตัวในระยะต่อไป โดยยังต้องจับตาการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อจากการนำเข้าเร่งตัวเพิ่มเติม 

เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ในระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านราคาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากภาวะ เงินเฟ้อ เร่งตัวสูงและการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางในหลายประเทศ อีกทั้ง นโยบายควบคุมโควิดอย่างเข้มข้น (Zero Covid) ในจีนยังเป็นความเสี่ยงต่อการล็อกดาวน์ระลอกใหม่


ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวทั้งจากการลงทุนภายในประเทศและการลงทุนจากต่างชาติตามแนวโน้มการเปิดเมือง แต่การลงทุนบางส่วนอาจชะลอหรือเลื่อนออกไปจาก การส่งออก ที่จะชะลอตัวลง ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงปัญหาด้าน เงินเฟ้อ


EIC ประเมินว่าในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทย จะได้รับอานิสงส์จากการทยอยเปิดประเทศของทั้งไทยและประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงท้ายปีมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น โดย EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้


สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เติบโตได้ดีจากการเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของประชาชน ส่งผลให้ในปี 2565 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยมีแนวโน้มแตะ 194 ล้านคน และด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น รายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากกลุ่มรายได้สูง. และด้านตลาดแรงงานที่เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นแม้ยังมีความเปราะบางและยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ในบางภาคธุรกิจ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย จะยังเผชิญแรงกดดันทางด้าน เงินเฟ้อ โดยราคาพลังงานโลกยังคงอยู่ในระดับสูงจากปัญหาด้านอุปทานภายหลังการคว่ำบาตรรัสเซียที่เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกพลังงานหลักของโลก และแนวโน้มการชะลอการลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานสะอาด

ประกอบกับมาตรการอุดหนุนด้านพลังงานของรัฐที่ทยอยลดลง ส่งผลให้อัตรา เงินเฟ้อ ไทยล่าสุดเดือนมิ.ย. สูงถึง 7.7% เร่งตัวขึ้นจาก 7.1% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่เงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2565 โดยเฉพาะราคาข้าวที่จะกลายมาเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อจากผลของปัจจัยฐานต่ำ และราคาเนื้อหมูที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อไป EIC คาดว่า เงินเฟ้อ จะเร่งตัวขึ้นได้อีกในระยะถัดไป  โดยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย นโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุม เงินเฟ้อ คาดการณ์ ที่มีแนวโน้มเร่งตัว ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่เงินเฟ้อของไทยมาจากฝั่งอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก 


ข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์  

ภาพจาก : พีอาร์ ซิตี้แบงก์

ข่าวแนะนำ