TNN online ถอนวาระ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" จากครม. ขอทบทวนใหม่ ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

TNN ONLINE

Wealth

ถอนวาระ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" จากครม. ขอทบทวนใหม่ ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ถอนวาระ ค่าเหยียบแผ่นดิน จากครม. ขอทบทวนใหม่ ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยขอถอน "ค่าเหยียบแผ่นดิน" ออกจากการประชุม ครม.ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคุยให้รอบด้าน ทุกมิติ เพราะต้องหารือค่าเหยียบแผ่นดินทั้งทางน้ำ-ทางบก ด้วย ระบุเตรียมเอากลับครม.ใหม่อีก 2 เดือน

วันนี้ (7 มิ.ย.65) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าในวันนี้ ได้ขอถอนเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" ที่เดินทางโดยอากาศยาน ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 มิ.ย.2565 ไปก่อน เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องคุยให้รอบด้าน ทุกมิติ

เพื่อนำเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทางเรือ และทางบกเข้าพิจารณาร่วมกัน คาดว่าจะนำเสนอ ครม.อีกครั้งประมาณ 2 เดือนนับจากนี้

โดยกลุ่มที่เดินทางเข้าไทยทางบกและทางน้ำส่วนใหญ่จะเข้ามาจากเพื่อนบ้านและพำนักในไทยระยะสั้นๆ เพียง 2-3 วัน จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมถูกกว่าทางอากาศที่จัดเก็บคนละ 300 บาท

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นรูปแบบของการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว จะมีรายได้มาจากการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซึ่งก่อนหน้านี้จะจัดเก็บประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือประมาณ 300 บาท เริ่มต้นเก็บค่าธรรมเนียมนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป แต่ขณะนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ให้มีผลบังคับใช้

สำหรับที่มาของการเรียกเก็บ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" นั้น นายพิพัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า แนวคิดมาจากกรณีที่เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อปี 2558 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บด้วย

ขณะที่ สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณมาให้สำหรับการเยียวยาชาวต่างชาติในส่วนนั้น ต่อมาเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งได้รับงบประมาณจากส่วนกลาง ไปเพื่อทำการสนับสนุน แต่เมื่อปี 2562 สำนักงบประมาณได้แจ้งมาทางกระทรวงฯ ว่าจะไม่จัดงบประมาณสำหรับการเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาให้ทางกระทรวงฯแล้ว

ทำให้ทางกระทรวงฯ ต้องหาวิธีจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเป็นกองทุนเพื่อการเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย จึงมีการนำเสนอเรื่องการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อปี 2562

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่รู้ว่าตั้งแต่ปี 2559-2561 กระทรวงสาธารณสุขต้องใช้งบประมาณปีละประมาณ 300 กว่าล้านบาท ไปชำระค่ารักษาพยาบาลให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ถ้ามีเงินกองทุนตรงนี้ให้ไปซื้อประกันแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะทำให้ไม่ต้องไปรบกวนเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนคนไทย.


ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง