TNN ย้อนรอย อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จากงานมหกรรมพืชสวนโลก สู่แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว

TNN

TNN Exclusive

ย้อนรอย อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จากงานมหกรรมพืชสวนโลก สู่แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว

ย้อนรอย อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จากงานมหกรรมพืชสวนโลก สู่แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว

ย้อนรอย อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จากงานมหกรรมพืชสวนโลก สู่แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว

อุทยานหลวงราชพฤกษ์ สวนเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9 อดีตสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2549 และ 2554 ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)


อุทยานฯ แห่งนี้ เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้พืชสวน แหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรและวัฒนธรรม


ชื่อ "อุทยานหลวงราชพฤกษ์" นั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


ปัจจุบัน อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลาย  เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ  ศึกษาธรรมชาติ  และเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพืชสวน



อุทยานหลวงราชพฤกษ์ (Royal Park Rajapruek) ตั้งอยู่เลขที่ 334 หมู่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ที่ใช้จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ถึง 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ปัจจุบันอุทยานหลวงราชพฤกษ์อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)


เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ขึ้น ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ 468 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 รวม 122 วัน


งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่จัดขึ้นในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้รับการตอบรับจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี 



ย้อนรอย อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จากงานมหกรรมพืชสวนโลก สู่แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว


จากความสำเร็จดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาบริหารจัดการและใช้ประโยชน์พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและปฏิบัติงานด้านต่างๆ โดยมีภารกิจหลักในการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้พืชสวนและแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย


สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้รับการถ่ายโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552 และมีการส่งมอบสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ให้แก่สถาบันฯ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เพื่อบริหารจัดการต่อไป การตั้งชื่อ "อุทยานหลวงราชพฤกษ์" นั้น เกิดจากหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้ขอพระราชทานชื่อสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ แห่งนี้ต่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9


พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า "อุทยานหลวงราชพฤกษ์" และพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า "Royal Park Rajapruek" ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา หลังจากที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้มีลายพระหัตถ์ขอพระราชทานชื่อดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2552 ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เป็นผู้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อในครั้งนั้น 


เส้นทางการเรียนรู้


ลานประติมากรรม

สวนเกษตรทฤษฎีใหม่

หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาอันทรงคุณค่า

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

สวนสมุนไพร

สวนธนาคารแห่งประเทศไทย

สวนธนาคารกรุงไทย

สวนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

สวนอัศจรรย์สีสันแห่งดาวอังคาร (Amazing Mars Garden) (สวนจิสด้า)

สวนบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์

สวนมูลนิธิบีเจซี บิ๊กซี



เส้นทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

1. พระพุทธรูปสมถะวิปัสสนากรรมฐาน ณ ลานต้นโพธิ์แห่งความจงรักภักดี พระพุทธรูป 2 องค์ ที่ได้จากการหล่อรวมใบโพธิ์ จำนวน 179,500 ใบ ที่ผู้เข้าชมงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ได้เขียนข้อความถวายพระพร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2550

2. พระศรีศากยมุนี ณ สวนประเทศภูฏาน พระพุทธรูปที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์ภูฏาน เด่นในเรื่องนำพาสันติสุขมาให้ และชะลอความชราของสรรพสัตว์ทั้งหมด

3. พระศากยมุนีปางมารวิชัย ณ สวนประเทศเนปาล เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นที่เมืองปาทัน ประเทศเนปาล เด่นในเรื่องการขจัดอุปสรรคและอันตรายทั้งปวง

4. พระพุทธรูปไม้แกะสลักปางมารวิชัย ณ สวนประเทศลาว เป็นพระพุทธรูปที่ทรงชนะเหล่ามารทั้งหลายที่มารบกวน หากใครได้สักการบูชาจะก่อบังเกิดความสงบสุข ร่มเย็น ปราศจากศัตรู

5. องค์พระพิฆเนศ ณ สวนประเทศอินเดีย เป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง ขจัดอุปสรรคทั้งปวง กิจการทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

6. พระอุปคุตปางสมาธิ หรือ พระบัวเข็ม ณ เนินด้านข้างสวนประเทศจีน โดดเด่นในเรื่องโชคลาภ คุ้มครองภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง ให้คุณทางทรัพย์สิน ร่ำรวยเงินทอง

7. พระโพธิสัตว์กวนอิม ณ ด้านข้างสวนประเทศจีน มีความโดดเด่นในเรื่องของความรัก ความมีเมตตา เปรียบเสมือนแม่ที่มีความรักให้กับลูก จึงกลายเป็นอีกหนึ่งองค์เทพที่มีความศักดิ์สิทธิ์



เรียบเรียงข้อมูลจาก วิกิพีเดีย / https://www.royalparkrajapruek.org/About

ภาพ Getty Images 

ข่าวแนะนำ