ทำไมภาวะโลกเดือด ถึงสะเทือนการหมุนของโลก จนเวลาหนึ่งวัน ยาวนานขึ้น
นักวิทยาศาสตร์พบ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังทำให้เวลาบนโลกยุ่งเหยิงกว่าที่เราคิด และมีส่วนทำให้ 1 วันบนโลก ยาวนานขึ้น
---โลกร้อนทำวันของโลกยาวขึ้น---
จำนวนชั่วโมง นาที และวินาที ในแต่ละวันบนโลก เป็นตัวกำหนดมาตรวัดความเร็วการหมุนของโลก
แต่การหมุนของโลกก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยซับซ้อนอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นในแก่นโลก และการละลายของภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ในยุคน้ำแข็ง รวมถึงล่าสุด การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็ทำให้การหมุนของโลกเปลี่ยนแปลง
งานวิจัยล่าสุด ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร PNAS เมื่อวันจันทร์ (16 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา เผยว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกจากโลกร้อน กำลังทำให้การหมุนของโลกช้าลง และเพิ่มความยาวนานในแต่ละวัน
หากถามว่า ทำไมการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ถึงส่งผลให้โลกหมุนเร็วขึ้น และทำให้เวลาโลกต่อวันยาวนานขึ้น อธิบายได้ว่า เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายกลายเป็นน้ำ น้ำเหล่านั้นจะไหลกระจายจากขั้วโลก ไปยังเส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้รูปร่างของโลกเปลี่ยนไป โดยบริเวณขั้วโลกจะแบนขึ้น ขณะที่ ตรงกลางของโลก ซึ่งเป็นเส้นศูนย์สูตรจะนูนขึ้น และทำให้โลกหมุนช้าลง ส่งผลให้เวลาต่อวันยาวนานขึ้น
กระบวนการดังกล่าว เปรียบได้กับการหมุนของนักสเก็ตน้ำแข็ง เมื่อนักสเก็ตหดแขนของพวกเขาเข้าหาตัวเองจะทำให้หมุนเร็วขึ้น แต่ถ้าพวกเขายืดแขนออกไปจะทำให้ตัวหมุนช้าลง
---หากไม่หยุดโลกร้อน โลกเราจะยาวนานขึ้น---
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ศึกษาช่วงเวลา 200 ปี ตั้งแต่ปี 1900-2100 โดยใช้ข้อมูลเชิงสังเกต และแบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อทำความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีผลกระทบอย่างไรต่อความยาวของวันในอดีต และเพื่อคาดการณ์บทบาทของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต
พวกเขา พบว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความยาวของวันเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.3-1 มิลลิวินาทีในศตวรรษที่ 20 และนับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อัตราดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.33 มิลลิวินาทีต่อศตวรรษ (100 ปี)
ถ้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงสูงต่อไป น้ำในมหาสมุทรก็จะอุ่นขึ้น น้ำแข็งในกรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกก็จะละลายเร็วขึ้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงของระยะเวลาบนโลกเพิ่มขึ้นนั่นเอง โดยคาดว่า หากมนุษย์ยังปล่อยมลพิษเช่นนี้ ภาวะโลกร้อนจะทำให้ความยาวนานของวันเพิ่มขึ้น 2.62 มิลลิวินาที (0.00262 วินาที)
---แซงหน้าบทบาทของดวงจันทร์---
บทบาทของดวงจันทร์ที่กระทบต่อเวลาโลกนั้นมีมานานหลายล้านปีแล้ว เนื่องจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์เป็นเหตุให้น้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น ทำให้การหมุนของโลกช้าลง แต่ผลกระทบจากเรื่องนี้ ต่อระยะเวลาของโลก น้อยมากจนแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคน ได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างน้ำแข็งขั้วโลกละลาย และเวลาที่ยาวนานขึ้น แต่ผลการวิจัยใหม่ เผยว่า โลกร้อนมีอิทธิพลต่อเวลามากกว่าที่คิด และอาจแซงบทบาทของดวงจันทร์ได้
“ในอดีต ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเวลาไม่ได้ส่งผลเยอะขนาดนั้น แต่ตอนนี้ สิ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเรายังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่สำคัญ แซงหน้าบทบาทของดวงจันทร์” เบเนดิกต์ โซจา ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ และดำรงผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค กล่าว
---แม้ไม่กระทบมนุษย์ แต่กระทบเทคโนโลยี---
เวลาโลกที่เพิ่มขึ้น 2-3 มิลลิวินาที มนุษย์อาจแทบไม่รู้สึกอะไร แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อเราอาศัยอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน
การบอกเวลาที่แม่นยำเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบ GPS ซึ่งแน่นอนว่า ระบบนี้ มีอยู่ในสมาร์ทโฟนทุกเครื่อง เช่นเดียวกับการสื่อสารอื่น ๆ และระบบนำทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องใช้นาฬิกาอะตอมที่มีความแม่นยำสูง โดยพิจารณาจากความถี่ของอะตอมบางตัว
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 โลกได้ใช้ระบบเวลาสากลเชิงพิกัด หรือ UTC เพื่อกำหนดเวลาของแต่ละพื้นที่ UTC พึ่งพานาฬิกาอะตอม แต่ยังคงก้าวตามการหมุนของโลก นั่นหมายความว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจำเป็นต้องเพิ่ม หรือ ปรับลบวินาที เพื่อรักษามาตรฐานของเวลาให้สอดคล้องไปกับการหมุนของโลก
แม้ว่าเรื่องนี้จะซับซ้อน แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากผลการศึกษา คือ ข้อมูลที่เพิ่มเติม ที่อาจขยายผลสู่อนาคต เพื่อไขปริศนาการหมุนของโลกได้ และจะช่วยให้มนุษย์เราคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนโลกได้มากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2024/07/15/earth-day-length-climate-ice-sheets/
https://edition.cnn.com/2024/07/15/climate/polar-ice-melting-day-length-time/index.html