เปิดตำนาน “ไซยาไนด์” จากอาวุธเคมียุคโรมันสู่ยาพิษหลายคดีในไทย | Chronicles
หลักฐานประวัติศาสตร์พบว่า ไซยาไนด์ เริ่มเป็นที่พูดถึงในยุคโรมัน เพราะถูกใช้เป็นกลศึกสงครามในฐานะ “อาวุธเคมี”
การตายปริศนาที่เกิดขึ้นหลายคดีในประเทศไทย อย่าง “แอม ไซยาไนด์” และล่าสุด คือ การวางยาพิษฆาตกรรมหมู่ 6 ศพ ชาวเวียดนามในโรงแรมดัง ซึ่งทั้งหมดล้วนได้รับพิษ “ไซยาไนด์”
ไซยาไนด์ สำหรับพวกเรามักคุ้นเคยกันดีจากการ์ตูนเรื่อง “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” ที่เป็นยาพิษสังหารในปมฆาตกรรมของคนร้ายเสมอ ๆ โดยมันมีกลิ่นเหมือนอัลมอนด์ ลอยออกมาจากลำคอของผู้เสียชีวิต ที่ริมฝีปากกลายเป็นสีม่วง และมีอาการตาเหลือก สะท้อนว่าต้องทุรนทุรายกว่าจะเสียชีวิต
หลักฐานประวัติศาสตร์พบว่า ไซยาไนด์ เริ่มเป็นที่พูดถึงในยุคโรมัน เพราะถูกใช้เป็นกลศึกสงครามในฐานะ “อาวุธเคมี”
อาวุธเคมีโรมัน
ในสมัยโรมัน ยุคจักรพรรดิเนโร (ผู้เดียวกับที่เผากรุงโรม) ได้ใช้สารสกัดไซยาไนด์จากธรรมชาติ อาทิ สารสกัดจากดอกไม้ devil doer หรือเมล็ดอัลมอนด์ เพื่อใช้เป็นอาวุธเคมีในการสังหารบรรดาญาติพี่น้องของเขา ที่เขาเห็นว่าอาจจะคิดคดทรยศ หรือจะเป็นหอกข้างแคร่ในอนาคต
เนโร มักจะเชิญญาติที่เขาหมายจะฆาตกรรมมาที่พระราชวัง และทำเครื่องดื่มลอเรล หรือ “น้ำเชอรี่” ที่เขาแอบใส่สารสกัดพิษนี้เข้าไป และเมื่อญาติดื่มโดยไม่ทันระวัง ก็จะเสียชีวิตอย่างทรมาน จนไม่ต้องทำสงครามกัน
แต่หากญาติ ๆ รู้ทัน หลอกล่อให้ดื่มไม่ได้ เนโรก็จะเปลี่ยนไซยาไนด์เป็นเครื่องมือเคมีในสงครามทันที โดยชโลมไซยาไนด์ที่ปลายแหลมทุกชนิดของทหาร เพื่อให้การแทงหรือฟันศัตรู นอกจากจะสร้างบาดแผลแล้ว ยังทำให้พิษทำลายศัตรู การันตีว่าตายทันที
นโปเลียน โบนาปาร์ต ได้รับแรงบันดาลใจจากกลยุทธ์อาวุธเคมีนี้ มาใช้กับกองกำลังของตนในการสร้างความเกรียงไกรสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรป ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพฝรั่งเศสและออสเตรียจะหยิบมาใช้งานตามไปด้วย
ส่วนในสงครามโลกครั้งที่ 2 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งนาซีเยอรมนี ได้นำไซยาไนด์มาประดิษฐ์เป็น “Zyklon B” เพื่อใช้ “รมแก๊ส” ชาวยิวในค่ายกักกัน รวมไปถึงใช้เป็นอาวุธเคมีในการพ่นควันพิษในหมู่บ้านชาวยิวที่ขัดขืน
ยาพิษสังหาร
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเข็ดขยาดกับการใช้ไซยาไนด์ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้มีความพยายามแบนการใช้อาวุธเคมีมากขึ้น และทำให้ผู้คนต้องหาประโยชน์จากไซยาไนด์ในรูปแบบอื่น ๆ แทน โดยที่นิยมกันคือประโยชน์ทางการแพทย์
สรรพคุณของไซยาไนด์ ใช้ลดอาการความดันโลหิตสูง ในญี่ปุ่นสารสกัดไซดาไนด์ใช้รักษาอาการวัณโรคและโรคเรื้อน หรือใช้ในการสกัดและสังเคราะห์วิตามิน B12 ที่จำเป็นต่อร่างกาย
อีกทั้งในวงการอุตสาหกรรม ไซยาไนด์มีบทบาทเป็นส่วนผสมสำคัญในการสกัดโลหะ ชุบแข็งโลหะ ชุบไฟฟ้า และการถ่ายภาพ อีกด้วย
หมายความว่าไซยาไนด์เริ่มเข้ามาวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ทำให้ผู้คนสามารถที่จะสรรหายาพิษอันตรายนี้มาไว้ในครอบครองง่ายมากขึ้น นั่นจึงทำให้เกิดการใช้งานที่ผิดวิธี อย่างการนำมาเป็นยาพิษสำหรับสังหารผู้คน หรือแม้กระทั่งใช้สำหรับคนที่หวังปลิดชีพตนเอง
“เอเชีย” เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไซยาไนด์ในภาคอุตสาหกรรมหนัก จากสถิติของ Stellar พบว่า ในส่วนของ “ซิลเวอร์ไซยาไนด์” ในปี 2023 มีมูลค่าตลาดมากถึง 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และจากสถิติของ Research Nester พบว่า ในส่วนของโซเดียมไซยาไนด์ เอเชียมีส่วนแบ่งทางตลาดมากถึง 36% และมีอัตราในการเติบโตกว่า 3.9%
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจ ที่ในเอเชียจะมีการหาซื้อไซยาไนด์ได้ง่ายดายกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และอาจจะส่งผลให้เกิดเหตุฆาตกรรม อาชญากรรม และโศกนาฏกรรมที่น่าสลดจากไซยาไนด์มากมาย ทั้งระดับประชาชนที่กระทำกันเอง หรือระดับการก่อการร้าย
Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
- บทความ How does pharmacological and toxicological knowledge evolve? A case study on hydrogen cyanide in German pharmacology and toxicology textbooks from 1878 to 2020
- https://centerforhealthsecurity.org/sites/default/files/2023-02/cyanide.pdf
- https://taylorandfrancis.com/knowledge/medicine-and-healthcare/pharmaceutical-medicine/potassium-cyanide/
- https://web.archive.org/web/20070321025053/http://www.portfolio.mvm.ed.ac.uk/studentwebs/session2/group12/ancient.htm